กลายเป็นประเด็นร้อน ที่แวดวงสีกากีถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ถามว่าการสั่งให้ รองผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคับทูลเพื่อให้โปรดเกล้าฯพ้นตำแหน่งหรือไม่
ทางกฤษฎีกาตอบว่านายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 และมาตรา 179 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 พร้อมกับถามว่ามีกรอบระยะเวลาในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯหรือไม่ กฤษฎีกาตอบว่าขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ต้องดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกตว่าการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นจะชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายและเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกสอบสวน ซึ่งผลจากคำตอบของกฤษฎีกาเกิดข้อถกเถียงกันว่าจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ ? เพราะมีบางส่วนบอกว่าไม่มีผลผูกพันที่ต้องปฏิบัติตาม แต่บางส่วนมองว่าต้องปฏิบัติตาม
แต่เมื่อย้อนดูคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ คบ.17/2559 ผู้ฟ้องคดี ฟ้อง กระทรวงมหาดไทย ที่ 1 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ 2 ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ 3 และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ 4 ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมติคณะรัฐมนตรี โดยไม่ดำเนินการเพิกถอนประกาศสำนักงาน ก.ท. ลงวันที่ 20 มกราคม 2540 เรื่องรับสมัครบรรจุแต่งตั้ง โดยเฉพาะส่วนเงื่อนไขไม่นับเวลาราชการต่อเนื่อง ทำให้ได้รับความเสียหาย
ศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนที่ให้ความเห็นทางกฎหมายตามที่หน่วยรัฐหารือนั้น เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใด ให้เป็นไปตามความเห็นของกฤษฎีกา ส่วนข้อสังเกตอื่นๆของคณะกรรมการกฤษฎีกามิได้มีผลบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตามข้อสังเกต แต่ให้เป็นไปตามดุลพินิจและนโยบายของแต่ละหน่วยงาน
ดังนั้นเมื่อเทียบเคียงกับกรณีสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีถามถึงกรณีการให้ รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการและคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกตไว้นั้นเท่ากับไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้ แต่กรณีดังกล่าวยังคงเป็นหนังยาวเพราะต่างมีกลยุทธ์ในเชิงกฎหมายที่งัดขึ้นมาฟาดฟันกัน แต่อาจจะเป็นความโชคดีของสำนักปทุมวัน ที่ กฎหมายตำรวจฉบับใหม่กำหนดให้มี คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ(ก.พ.ค.ตร.) ไว้คอยพิจารณาตัดสินให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าแต่ละฝ่ายมีความเป็นสุภาพบุรุษสีกากี พอที่จะยอมรับผลชี้ขาดหรือไม่ เพราะผู้ที่ถูกให้ออกจากราชการได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แล้ว อยู่ระหว่างรอให้ รักษาการ ผบ.ตร.และนายกรัฐมนตรีแก้คำอุทธรณ์
สำหรับทางออกในการยุติความขัดแย้ง นายธวัชชัย ไทยเขียว ก.พ.ค.ตร.ในฐานะรองโฆษก ก.พ.ค.ตร.ชี้ช่องคำวินิจฉัยไว้ 4 ทาง คือ
1.ไม่รับอุทธรณ์ ด้วยเรื่องอุทธรณ์ไม่อยู่ในเงื่อนไข ที่ ก.พ.ค.ตร.จะรับไว้พิจารณาได้ เช่นเป็นเรื่องไม่อยู่ในอำนาจ หรืผู้อุทธรณ์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์อุทธรณ์ตามกฎหมาย 2.ยกอุทธรณ์ ด้วยคำสั่งทางปกครองที่นำมาอุทธรณ์นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น
3.ให้แก้ไข เพราะคำสั่งที่นำมาอุทธรณ์นั้นไม่ถูกต้องบางส่วน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงวินิจฉัยให้แก้ไขในส่วนที่ไม่ถูกต้อง และ
4.ยกเลิกคำสั่งลงโทษและอาจจะมีคำสั่งให้เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้อุทธรณ์ด้วยก็ได้ แต่จะวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้ เนื่องจากคำสั่งที่นำมาอุทธรณ์นั้น เป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผลการของวินิจฉัยจะออกไปแนวทางไหนคงต้องติดตามแบบไม่กระพริบตา เพราะผลคำวินิจฉัยเทียบเท่ากับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
เมื่อสองฝ่ายทราบผลคำวินิจฉัยแล้วจะยอมรับผลที่ ก.ค.พ.ตร.ชี้ขาดแบบสุภาพบุรุษสีกากีหรือไม่ ต้องติดตามเช่นกัน แต่ถ้าพ่ายแล้วไม่ยอมรับยังดันทุรังลุยต่อ ความโชคดีของสำนักปทุมวันจะกลายเป็นความโชคร้ายในทันที !!!