ป.ป.ส. จับมือ 4 หน่วยงาน ต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. มอบหมายให้ นายวีระพล ใจจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมแบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (การต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด) ระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และกรมการแพทย์ โดยมี ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายแพทย์สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ เข้าร่วมพิธีลงนามฯ ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.
ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมทางยาภายในประเทศ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอุตสาหกรรมทางยา หรือผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอาง ที่มีสมุนไพรที่พัฒนาจากพืชกระท่อมเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ที่มีความปลอดภัยในอนาคต
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. มีพันธกิจ ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยการเกษตร ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรที่มุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้ และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป การลงนามร่วมกับหน่วยงานทั้ง 4 ในการสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยพืชกระท่อมในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์พืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัย เกษตรกร บุคลากรทางการแพทย์ และภาคเอกชน พัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค้นคว้าให้รู้ถึงสารสำคัญของพืชกระท่อม ทั้งฤทธิ์ที่เกิดขึ้น และการนำเอาไปใช้ประโยชน์ มาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2545 ที่กระท่อมยังอยู่ในสถานะพืชเสพติด จนถึงปัจจุบัน มีทีมวิจัยที่พร้อมและได้ศึกษาเรื่องพืชกระท่อมมาอย่างยาวนาน ทำให้มีองค์ความรู้ที่จะชี้แนะและให้ข้อมูลแก่หน่วยงานต่างๆ ที่จะนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ ตอนนี้ทางทีมวิจัยได้ทำการการทดสอบความเป็นพิษแบบเรื้อรัง และความเป็นพิษต่อยีนของสารสกัดพืชกระท่อม รวมถึงเตรียมความพร้อมในการศึกษาทางคลินิก และในระยะจากนี้ไปจนถึงอนาคต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังก้าวเข้าสู่การศึกษาทางคลินิกในผู้เข้ารับการบำบัดการเสพติดอย่างจริงจัง และหวังว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะได้สร้างสะพานความร่วมมือและมีช่องทางที่นักวิจัยสามารถใช้ความรู้ทางวิชาการมาช่วยพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้
นายแพทย์สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้กล่าวถึงบทบาทของกรมการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยจากยยาเสพติดด้วย ซึ่งหากสามารถพัฒนาผลวิจัย ที่ใช้ในการรักษาด้วยจะเป็นประโยชน์ และกรมการแพทย์พร้อมจะสนับสนุน ให้เกิดประสิทธิภาพภายใต้ข้อกำหนดและมาตรฐานที่ผู้ป่วยจะได้รับ
นายวีระพล ใจจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายโดยเฉพาะการนำมาใช้แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยสำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังมีความสอดคล้องกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 ที่มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ การใช้ตามวิถีชุมชน และคุ้มครองสุขภาพของบุคคล รวมถึงประสานงานให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้น กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบ คาดหวังว่าความร่วมมือ 4 หน่วยงานในครั้งนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศในทุกมิติ และขอขอบคุณ สวก. ม.อ. และกรมการแพทย์ มา ณ โอกาสนี้