สพฉ.ดึงรถพยาบาลเอกชน เป็นกำลังสำรองระบบ 1669

179

เลขาธิการ สพฉ. เผย สพฉ. ดึงรถพยาบาลเอกชน เป็นกำลังสำรองระบบ 1669 ย้ำคนป่วยแม้ไม่ฉุกเฉินขึ้นรถพยาบาลต้องปลอดภัย มีมาตรฐาน

วันนี้ (20 พ.ค. 67) ที่ห้องประชุมสัตตบงกช สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการประชุมชี้แจงนโยบายและทิศทางการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับ หน่วยปฏิบัติการขององค์กรภาคเอกชนที่เป็นนิติบุคคล (บริษัทเอกชน) โดยมีผู้แทนจากบริษัทเอกชน ที่ให้บริการรถพยาบาล ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุมและระบบออนไลน์ โดยเป็นการชี้แจงนโยบายและทิศทางการดำเนินการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากภาคเอกชน และการตอบข้อซักถาม

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาที่ ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลหน่วยปฏิบัติการแพทย์ พ.ศ. 2564 สพฉ. ก็ได้ยกระดับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเป็นการควบคุมมาตรฐานของหน่วยปฏิบัติการแพทย์ หรือหน่วยกู้ชีพ ซึ่งตามมาตรฐานนี้จะเป็นการควบคุมกำกับการดำเนินงานของหน่วยในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานบุคลากร มาตรฐานยานพาหนะ เครื่องมือสื่อสาร การจัดเก็บเครื่องมือเวชภัณฑ์ การบริหารจัดการต่างๆ ซึ่ง ปีนี้ สพฉ. จะได้เร่งให้หน่วยกู้ชีพทั่วประเทศ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนไว้อยู่เดิม และที่กำลังจะขอจัดตั้งใหม่ ดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ให้ครบทั้งหมด โดยหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่โทรแจ้ง 1669 ได้รับการคุ้มครองและมั่นใจได้ถึงมาตรฐานของหน่วยปฏิบัติการที่ออกไปช่วย

แต่อย่างไรก็ดี จากสถิติที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน อยู่เพียงร้อยละ 20 ซึ่งเน้นที่กลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสีแดง แต่อีกร้อยละ 80 โดยเฉพาะในกลุ่มฉุกเฉินไม่รุนแรง ไม่ได้มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งพบว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ อาจจะมีทีมกู้ชีพไม่เพียงพอในหลายพื้นที่  หรือในกลุ่มที่เป็นคนไข้ไม่ฉุกเฉินแต่มีความจำเป็นต้องใช้รถพยาบาล เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุแพทย์นัด ในกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถขอรถจาก 1669 ได้เช่นกัน สพฉ. จึงได้มองไปยังกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรถพยาบาลภาคเอกชน ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจมานานแล้ว และมีกว่าร้อยราย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจนในการกำกับดูแลมาตรฐาน ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการขออนุญาติดำเนินการให้ถูกกฎหมายต่างๆเช่น พรบ.ขนส่งทางบก การขอใช้สัญญานไฟและเสียงของตำรวจ การขอใช้วิทยุสื่อสาร การขอยกเว้นภาษี รวมทั้งการควบคุมมาตรฐานทางวิชาชีพ

“สพฉ. มองว่ากลุ่มรถพยาบาลเอกชนจะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการให้การดูแลผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินตามบ้าน หรือผู้ป่วยฉุกเฉินในงานกีฬา งานอีเว้นท์ต่างๆ แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน สพฉ. ก็จะให้บริษัทรถพยาบาลเอกชน ดำเนินการจัดทำมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลหน่วยปฏิบัติการแพทย์ พ.ศ. 2564 เช่นเดียวกับหน่วยกู้ชีพ 1669 ทั่วประเทศ โดยเมื่อผ่านการรับรองแล้วก็สามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกกฎหมาย และแม้จะไม่ใช่หน่วยปกติที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ในการให้บริการในจังหวัด แต่จะเป็นหน่วยเสริมหากรถในระบบมีไม่เพียงพอหรือในยามที่เกิดสาธารณภัยเหมือนในช่วงโควิด 19 ที่รถในกลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #สพฉ #1699 #ข่าวอาชญากรรมสังคม