อ่านซะ..!!! ถ้าอยากรู้ว่าการสั่งพักราชการ ชอบหรือไม่.? มีกฏหมายกำหนดไว้ชัดเจน มีทั้งคุณที่คุ้มครองสิทธิ์ผู้ถูกให้ออก กฎหมายยังระบุคุ้มครองผู้ออกคำสั่งเช่นกัน
คำสั่งที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) มีหนังสือคำสั่งที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย.2567 เรื่อง ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมพวก รวม 5 นาย ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น.? มีการถกเถียงกันไปคนละทิศละทาง ส่วนตัว”พยัพฆ์น้อย 109“ทำงานอยู่ในแวดวงสีกากีมาเกือบ 30 ปี ก็เช่นกัน วันหยุดยาว 3 วัน ไม่ไปเที่ยวพักผ่อนที่ใหน แต่นั่งอ่านคำสั่งและข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 2547 และ พ.ร.บ. ตำรวจ ปี พ.ศ. 2565 วนๆ อ่านเพื่ออยากรู้จริงว่า ที่กูรูจอแก้ว ที่หิวแสงทั้งหลายที่วิเคราะห์ฟันธงกันอะว่าอย่างโน้นอย่างนี้นั้น ตกลง กฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ณ ปัจุบัน กับ กฎหมายเก่าบางมาตรา ว่าด้วยการให้ออกจากราชการไว้ กำหนดไว้ชัดโดยไม่ต้องไปคิดถึงตัวบุคคล ”พยัพฆ์น้อย 109“ ก็ทั้งฟังทั้งอ่านทั้ง โทรไปขอความรู้จากผู้จริง(ผู้รู้จริง) นะครับก็ได้โดยสรุปก็พออธิบายความได้ว่า
“ตามความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 120 วรรคสี่
พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีบทบัญญัติที่เพิ่มมาใหม่เกี่ยวกับการตั้งกรรมการสอบสวนไว้ในมาตรา 120 วรรคสี่ ความว่า”ในระหว่างการสอบสวน จะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใด ให้กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน”
พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 120 วรรคสี่ เป็นบทบัญญัติใหม่เพื่อคุ้มครองสิทธิของข้าราชการตำรวจที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ใจความสำคัญคือห้ามนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใดๆ ที่กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกสอบสวน หมายความว่า ข้าราชการตำรวจที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ยังคงมีสิทธิและเสรีภาพตามปกติ เช่น สิทธิในการประกอบหน้าที่ สิทธิในการรับเงินเดือน สิทธิในการลาพักร้อน สิทธิในการรักษาพยาบาล เป็นต้น
ประเด็นปัญหาคือ ความในมาตรา 120 วรรคสี่ที่ว่า “เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน” ซึ่งเป็นบทบัญญัติใหม่จะตีความว่า เป็นเพียงบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ของข้าราชการตำรวจที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งหรือคุกคามผู้ถูกสอบสวน โดยไม่มีผลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงขั้นตอน กระบวนการ หรือแนวทางปฏิบัติในการใช้อำนาจตามมาตรา 131 หรือเป็นกรณีที่มีผลบังคับว่า ผู้บังคับบัญชาจะ สั่งพักราชการ หรือ สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ได้จะต้องมี ข้อเสนอแนะ จากคณะกรรมการสอบสวนเสียก่อน ซึ่งการจะเป็นไปอย่างใด ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติ คำวินิจฉัย หรือคำพิพากษาที่ชัดเจน
พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 17 เมษายน 2565 มีสถิติการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 105 ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจ แต่รวมถึงการใช้อำนาจของผู้บัญชาการและผู้บังคับการ ในการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วมีคำสั่งมาตรา 131 สั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ประมาณ 70 คดี
การปฏิบัติในการออกคำสั่งคู่โดยไม่ต้องมีข้อเสนอแนะ จากคณะกรรมการสอบสวน เป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกับ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และ กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 ข้อ 78
อย่างไรก็ตามมาตรา 120 วรรคสี่ มีเจตนารมณ์หลักเพื่อ คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ของข้าราชการตำรวจที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาใช้เหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการกลั่นแกล้งหรือคุกคามผู้ถูกสอบสวน แต่มาตรา 120 วรรคสี่ ก็ไม่ได้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงขั้นตอน กระบวนการ หรือแนวทางปฏิบัติในการใช้อำนาจตามมาตรา 131 โดยตรง จึงอาจตีความได้สองแง่มุมดังนี้
ส่วนการตีความแบบจำกัด: หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ เฉพาะกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอแนะ เท่านั้น
พร้อมกับการตีความแบบกว้าง: หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาควรสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ดังนั้นจึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่า การดำเนินการของ ตร. กรณีผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 105 ใช้อำนาจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยไม่รอฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนเป็นการกระทำที่ขัดกับ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 120 วรรคสี่
เพราะฉนั้น ก.ตร. ควรออก แนวทางปฏิบัติ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ การสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 120 วรรคสี่ ไว้ในกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพัก
รอฟังคำวินิจฉัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับกรณีที่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามมาตรา 120 วรรคสี่ ของ ก.พ.ค.ตร.
โดยสรุปความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนซึ่งออกตามความในมาตรา 131 วรรค6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยจาก ก.พ.ค.ตร. เพื่อไม่ให้กระทบกับการดำเนินการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 70 คำสั่งดังได้กล่าวมาแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอยืนยันการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้ดำเนินการมา กล่าวคือเห็นว่า มาตรา 120 วรรคสี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของข้าราชการตำรวจที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมิได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นตอน กระบวนการ หรือแนวทางปฏิบัติในการใช้อำนาจตามมาตรา 131 ดังนั้น การใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 105 ในการดำเนินการตามมาตรา 131 จึงเป็นการดำเนินการทางปกครองที่สามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องรอฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งเป็นการปฏิบัติในทำนองเดียวกับการดำเนินการของผู้บังคับบัญชาข้าราชการพลเรือนสามัญผู้มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการทางวินัย
ในเมื่อกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ก็มาคอยดูกันว่า จะมีคนตะแบง หาช่องออกยังไง “เพราะที่นี่ประเทศไทยอะไร ก็เกิดขึ้นให้เห็นอยู่ตลอดมา แต่ขอเตือนไว้เลยนะครับ ถ้าออกแบบศรีธนนชัย คุกตะราง และกรรมก็รอคุณอยู่ ”กัมมุนา วัตติโลโก“