ปปง.ไทย – ลาว ประชุมหารือกับคณะกรรมการประสานการดำเนินการระดับชาติด้าน AML/CFTเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการยกระดับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของ สปป. ลาว
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และคณะผู้บริหารสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้การต้อนรับคณะกรรมการประสานการดำเนินการระดับชาติด้านป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (National Coordination Committee for Anti-Money Laundering and Combating Financing of Terrorism: NCC) ประกอบด้วย Mr. Khamphanh BOUNPHAKHOM รองประธานสำนักงานศาลฎีกา Mrs. Vathana DALALOY รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป. ลาว Mr. Manothong VONGSAY รองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ Dr. Saynakhone INTHAVONG รองรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พร้อมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทางการเงินลาว และสถาบันให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและวิชาการ (Institute for Legal Support and Legal Assistance: ILSTA) ซึ่งเป็นองค์กรของลักเซมเบิร์กที่ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)โดยมี H.E. Mr. Patrick HEMMER เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการประชุม
ในการประชุมดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย(Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติผ่านประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในการเตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของ Financial Action Task Force: FATF เพื่อเป็นแนวทางให้ สปป. ลาว นำไปพัฒนาการปฏิบัติงานได้อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและถูกปลดจากกระบวนการเข้าสู่บัญชีเทาโดยเร็ว
รวมถึงได้ให้คำแนะนำในการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การกำกับดูแลผู้มีหน้าที่รายงานการดำเนินการกับทรัพย์สินและคดีอาญาฟอกเงิน มาตรการลงโทษทางการเงินกับบุคคลที่ถูกกำหนดและการดำเนินคดีอาญาฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึง การพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในด้าน AML/CFT โดยฝ่ายไทยพร้อมให้ความร่วมมือและการสนับสนุนในการดำเนินการยกระดับมาตรฐานสากลของลาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย
เนื่องจากอาชญากรรมฟอกเงินมีการดำเนินการในลักษณะข้ามชาติ หากประเทศเพื่อนบ้านมีมาตรการป้องกันและปราบปรามที่เข้มแข็งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัย ส่งเสริมการลงทุน การค้า และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างสองประเทศ เนื่องจากหากลาวถูกขึ้นบัญชีเทาเรื่องฟอกเงินอาจส่งผลให้มีความล่าช้าในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพราะต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับลาวอย่างเข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจของไทยที่มีการดำเนินการในลาวอาจถูกจัดเป็นลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงในการทำธุรกรรมกับประเทศอื่นๆ
#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ปปง.ไทย – ลาว#AML/CFT