มกอช. ขานรับข้อสั่งการ รมว.ธรรมนัส ยกระดับคุณภาพมาตรฐานทุเรียนไทย มุ่งเป้าการส่งออกมูลค่ากว่าแสนล้านบาทในปี 67
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ มีนโยบายขับเคลื่อนภาคการเกษตร โดยเกษตรกรต้องกินดี อยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้นสามเท่าภายใน 4 ปี และพัฒนายกระดับสินค้าเกษตรทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และประเทศไทยอย่างมหาศาล ดังนั้น หากผลไม้ไม่มีคุณภาพและมาตรฐานย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งก.เกษตรฯได้มีนโยบายควบคุมคุณภาพผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพผลผลิตในโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก(ล้ง) ก.เกษตรฯโดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและหลักปฏิบัติในการตรวจรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566) ซึ่งประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ โดย ครม.ให้ความเห็นชอบและคาดจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 68 และ รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการ มกอช. กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการโรงรวบรวมและโรงบรรจุทุเรียนต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับและได้รับรองมาตรฐาน
มกอช. ได้จัดโครงการอบรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและผู้ผลิตเข้าสู่มาตรฐานบังคับเรื่องหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยบูรณาการร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก และสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง ร่วมให้ข้อมูลและชี้แจงกับผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการเสวนาเรื่องทิศทางการผลิตและการส่งออกทุเรียนไทย ในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังบรรยายให้ความรู้เรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตร หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ขั้นตอนการส่งออกทุเรียนไทยไปต่างประเทศ ขบวนการควบคุมกำกับดูแลตามมาตรฐานบังคับ อีกทั้ง การจัดคลินิกให้คำปรึกษาจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน (CB) พบผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียนในเรื่องการขอการรับรอง รวมถึงกำหนดแผนที่จะจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ ไปยังผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง ระหว่างเดือนพ.ค.-ส.ค.ด้วย
ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรได้จัดเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตเข้าสู่มาตรฐานบังคับเรื่องหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ซึ่งที่ผ่านมาในปี 66 ได้พัฒนาหลักสูตรกลางเพื่อสร้างความรู้ และพัฒนาทักษะให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตทุเรียน ได้แก่ หลักสูตรผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยว หลักสูตรผู้ตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน หลักสูตรผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน 9070 อีกทั้ง ยังได้มีการจัดทำระบบการเรียนรู้ตามมาตรฐานดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ (E-learning)
เพื่ออำนวยความสะดวกผู้เกี่ยวข้องให้เรียนได้ทุกที่ตลอดเวลา ไม่จำกัดจำนวน ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 2,000 ราย มีผู้ตรวจประเมินจากหน่วยตรวจสอบรับรองที่มีความสามารถในการให้การรับรองกว่า 80 คน จากหน่วยตรวจสอบรับรอง 21 แห่ง นอกจากนี้ มกอช. กำหนดแผนการจัดคลินิกให้คำปรึกษาจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน (CB) เรื่องการขอการรับรอง ในทุกภูมิภาคระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึงเดือนส.ค.นี้ รวมถึงจะพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงาน การพัฒนาเอกสารและแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาสถานประกอบการต้นแบบอีก 20 แห่ง เพื่อให้โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทั่วประเทศได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานบังคับ ต่อไป.