หน้าแรกการเมือง'อาจารย์ป๋อม' อัดยับ ไม่เห็นด้วย ปฏิรูปตำรวจชุด ‘มีชัย’ เอาคนไม่รู้มาคิดแก้

‘อาจารย์ป๋อม’ อัดยับ ไม่เห็นด้วย ปฏิรูปตำรวจชุด ‘มีชัย’ เอาคนไม่รู้มาคิดแก้

ที่ห้องประชุมชุมนุมสหกรณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) และอดีตคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แถลงถึงการปฏิรูปตำรวจ หลังจาก คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ..ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ออกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ… ให้ประชาชนทำการประชาพิจารณ์ ว่า ตนออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ได้ต่อต้าน ไม่ได้คัดค้าน เพียงเสนอความเห็นว่า ไม่เห็นด้วย ต้องการเสนอว่าความคิดเห็นแล้วให้ไปพิจารณาว่าทำได้หรือไม่ โดยทุกอย่างที่พูดท้าให้ไปทำการวิจัยด้วย ว่าการจะปฏิรูป ตั้งอะไรใหม่ ย้ายอะไร เช่นตั้งหน่วยงานใหม่ หรือแยกงานใดออกไปจากตำรวจที่ผ่านมา คุ้มค่า มีประสิทธิภาพหรือไม่ ท้าไปทำวิจัยก่อนทำ

อดีตรองผบ.ตร.กล่าวว่า การออกมาครั้งนี้ ตนมาคนเดียวคิดคนเดียวแต่ บูรณาการรับฟังความคิดเห็น จากลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นตำรวจ ที่ตนสอนในหลักสูตร สารวัตร ผู้กำกับการ ผู้บังคับการ ซึ่งสะท้อนมาว่าตำรวจจริงๆเขาต้องการอะไร ยืนยันว่าการออกมาไม่มีเบื้องหลัง เบื้องหน้า เบื้องบน แต่มาในฐานะที่เป็นตำรวจ เป็นลูกตำรวจ ครอบครัวเป็นตำรวจและไม่เคยประพฤติชั่ว

อดีตรองผบ.ตร.กล่าวว่า ตนไม่เคยออกมาก่อนหน้านี้เพราะ รอดูจนการร่างกฎหมายเสร็จสิ้นและออกมาแสดงความคิดเห็นเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ที่เปิดโอกาสให้สาธารณะชนแสดงความคิดเห็น การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ ไม่เคยถามตำรวจ มีเพียงตัวแทน 2 คน คือ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผบช.ภ. 1 และ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผบ.ตร. ไปนั่งเป็นตัวแทนในคณะกรรมการ 2 คน ร่วมกับกรรมกรรมจากหน่วยงานอื่นๆอีก 14 คน เป็น 14 คนที่ไม่เคยรู้กฎหมาย แต่ไปร่างกฎหมาย เปรียบเสมือนปลูกเรือนต้องตามใจอยู่ แต่การปฏิรูปแบบนี้เหมือนมีธง ตำรวจ 2 คน จะไปแสดงความเห็นต่อสู้อะไรกับอีก 14 คนได้

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปชุดนายมีชัย ไม่ได้หยิบยก 2 เรื่องสำคัญ ที่เป็น สมอง และหัวใจของการปฏิรูปตำรวจ มาพูด นั่นคือ 1. เรื่องงบประมาณ ที่ยังไม่เพียงพอ ตนเคยเสนอหลายครั้ง ลดจำนวนตำรวจไปครึ่งหนึ่งเอางบฯเงินเดือนตัดจากกำลังพลที่เอาออกไป มาเพิ่มเงินเดือนให้ตำรวจ และมาเป็นงบลงทุนฯ โดยงานด้านรักษาความปลอดภัยโอนให้หน่วยอื่น ให้เอกชน รัฐก็ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังตำรวจในภารกิจนี้ เอาตำรวจออกได้ และ 2. ไม่ได้พูดถึงผลกระทบการดูแลตำรวจชั้นผู้น้อย ที่เป็นหัวใจของตำรวจใกล้ชิดประชาชนที่สุด ทั้งที่การปฏิรูปให้ได้ผลอย่างแท้จริงต้องปฏิรูปตำรวจชั้นผู้น้อย ซึ่งใกล้ชิดและกระทบประชาชนมากที่สุด ขณะนี้ตำรวจชั้นผู้น้อยแสนกว่าคนยังตกระกำลำบาก ต้องทำงานหนักเกินกว่าข้าราชการทุกกระทรวง แต่รายได้เท่ากันตามมาตรฐานระเบียบราชการ

“ผมต้องการให้การปฏิรูป ทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยได้เงยหน้าอ้าปาก ได้รับข้าตอบแทนตามภาระงาน ชั่วโมงการทำงาน สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน ผมเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้่จะสมบูรณ์แบบ ทุกวันนี้ตำรวจชั้นผู้น้อยได้ค่าคอบแทนพิเศษ นอกเหนือจากเงินเดือน เดือนละ 3,000 บาท เท่านั้น เฉลี่ยวันละ 100 บาท ผมสอบถามตำรวจชั้นผู้น้อย ส่วนใหญ่ ไม่ต้องการ 3,000 บาท แต่ขอค่าตอบแทนเท่าชั่วโมงที่ทำงาน ค่าล่วงเวลา มีงานวิจัยพบว่าตำรวจชั้นผู้น้อยทำงานวันลพ 12 ชั่วโมง ทั้งที่ตามกฎหมายแรงงานให้ทำงานแค่วันละ 8 ชั่วโมง ดังนั้น 4 ชั่วโมงที่เกินมา ตำรวจต้องได้ค่าล่วงเวลา วันหยุด วันนักขัตฤกษ์ของตำรวจไม่มี มีคำสั่งห้ามลา ห้ามขาด ห้ามป่วย และวันหยุดเหล่านี้ไม่มีค่าล่วงเวลา หากคิดตามนี้ตำรวจชั้นผู้น้อยจะได้เงินเพิ่มตามปริมารงานและเวลาทำงาน เพิ่มถึงเดือนละประมาณ 12,000 บาท ผมว่าหากทำแบบนี้คุณภาพชีวิตตำรวจชั้นประทวนจะดีขึ้น เราเพิ่มเงินเดือนไม่ได้ เพราะเป็นมาตรฐานข้าราชการ แต่ของเงินเพิ่มตามการทำงานที่แท้จริง ซึ่งยังไม่นับรวมค่าเสี่ยงภัย ต่างๆ” รองผบ.ตร.กล่าว

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า กรณีที่ร่างพ.ร.บ. ตำรวจฯ ฉบับนายมีชัย กำหนดให้ตำรวจที่เป็น แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ครู อาจารย์ เป็นตำรวจไม่มียศ นั้น เคยถามกันสักคำไหม ว่าเขาอยากไม่มียศกันหรือเปล่า ตนไปถามมาแล้ว ถ้าไม่มียศก็ไม่มีใครอยากมาเป็นหมอตำรวจ มีก็น้อยมาก เขาไปอยู่โรงพยาบาลอื่นกันหมด หมอ พยาบาลในเหล่าทัพอื่นๆ หรือแม้กระทั่งหมอที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี เช่น พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุณ หมอที่เข้าไปช่วยชีวิต 13 นักเตะทีมหมูป่าอะคาเดมี ภาคภูมิใจในการปฏิบัติงานเป็นหมอทหาร ซึ่งการทำงานร่วมกันแบบในภารกิจของตำรวจ ทหาร การกลมกลืนในหน่วยงาน ต้องเลือดเนื้อ ชีวิต จิตวิญญาณสีเดียวกัน หมอที่้เป็นตำรวจและทหาร ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือพร้อมรับการฝึก หลายอย่างต้องเสี่ยงต้องทำร่วมกัน จำเป็นต้องมีความกลมกลืนในองค์กร

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ตั้งคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ เรียก ก.ตร. ที่ผสมระหว่างคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่กำหนดนโยบาย ตั้งผบ.ตร. กับคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่มีอำนาจแต่งตั้ง ตั้งก.ตร.แบบใหม่ องค์ประกอบกรรมการ มีอัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตัดเลขาธิการ ก.พ.ออกไป มีกรรมการจากการเลือกตั้งจากตำรวจ 5 คน และอีก 3 คนจากคนนนอก ซึ่งตรงนี้ตนไม่รังเกียจรังงอน รับได้ สามารถคานกันได้ เห็นดีเห็นงามกับนายมีชัย

“แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) เพราะตำรวจมีคนตรวจสอบมากอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งกรรมการตรวจสอบตำรวจอีก ทุกวันนี้ตำรวจกลัวการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของประชาชนอยู่แล้ว วันนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กของประชาชนแข็งแกร่งมาก แชร์ไวที่สุด และตำรวจก็ดูแลพฤติกรรมตำรวจด้วยกันเอง

“ตำรวจมักหยิบแต่เรื่องบกพร่อง มองข้ามเรื่องทีดีงาม เรื่องที่ประสบความสำเร็จ หลายครั้ง หลายคดี ที่ตำรวจตรวจสอบกันเอง ตำรวจจับตำรวจ แต่มักไม่ถูกพูดถึง ยอมรับในตำรวจ 2.2 แสนนาย มีตำรวจที่ไม่ดี รีดไถ รังแก ประชาชน แต่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็ ประมาณ 2,200 นาย ทุกวันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องแก้พฤติกรรมตำรวจที่ไม่ดีวันละ 4-5 คน ตำรวจประพฤติชั่วมีอยู่จริง เป็นไปตามธรรมชาติในสังคมที่ไม่มีคนดีทั้งหมด ไม้ยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ พี่น้องประชาชนคุมตำรวจมากที่สุด มีสำนักงานจเรตำรวจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ทั้ง ก.พ.ค.ตร. และก.ร.ตร. ไม่จำเป็นต้องมี ตั้งมาเป็นน้ำตาล ทำให้เกิดความสำคัญ เปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้นไปที่นั่น” อดีตรองผบ.ตร.กล่าว

สำหรับการโอนงานจราจรให้องค์กรท้องถิ่น พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยเพราะท้องถิ่นไม่มีศักยภาพด้านงบประมาณ หากต้องรับภาระงานี้ และทั่วโลกจราจร คือตำรวจ ให้ไปวิจัยดู และงานจราจรยังทำหน้าที่สายตรวจ จุดแรกที่สุดที่เข้าถึงเหตุการณ์ เข้าถึงคนร้ายไวที่สุด ถ้าตำรวจจราจรหายไปจากท้องถนนจะทำอย่างไร ต้องคิดเรื่องการโอนย้ายด้วยตนถามตำรวจไม่มีใครอยากโอนย้ายหรอก ต้องรับคนใหม่หรือ ยอมรับความจริงด้วยว่าประเทศเราจน เงินคงคลังมีจำกัด

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า งานสอบสวนยังแก้ไม่ถูกจุด งานสืบงานสอบต้องไปด้วยกันกับงานสอบสวน การสั่งการต้องหนึ่งเดียว เป็นสองทางไม่ได้ งานสอบสวนเป็นงานที่สำคัญที่สุด ตนเสนอให้มีการกำหนดคุณสมบัติให้ครบถ้วนในตำแหน่งต่างๆ จะดีกว่า ทุกวันนี้ที่หนีงานสอบสวนเพราะคดีไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ต้องทำสำนวน คือภาระที่พนักงานสอบสวน ต้องแบก งานเยอะ นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ตำรวจโดยเฉพาะสายงานสอบสวน หนีปัญหา ฆ่าตัวตาย พวกสำนวนไม่รู้ตัวผู้ต้องหา ต่างประเทศเขาไม่ทำกันเพราะปล่อยไว้ เป็นดินพอกหางหมู

” ถ้าจะปรับปรุงอะไรต้องถามเขาว่าต้องการอะไร เช่นกรณีพ่อกระโดดศาลอาญาฆ่าตัวตาย เพราะศาลยกฟ้อง เรื่องนี้อยากชี้ว่าตำรวจเป็นเพียงต้นธารกระบวนการยุติธรรม ตำรวตเปรียบเหมือนพ่อครัว แสวงหาวัตถุดิบปรุงอาหาร ให้อัยการชิม แล้วส่งไปถึงศาล บางอย่างไปถึงอาหารก็บูด พยานไม่ให้การชั้นศาล ยกฟ้องไปหลายคดี เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมต้องปรับปรุงทั้งระบบ งานสอบสวนทุกอย่างต้องเรียลไทม์ ใช้แบบอิเล็กทรอนิกส์ ทุกวันนี้การทำคดีหนึ่ง การหาพยานหลักฐาน ตำรวจต้องทำ และจ่ายเงินทำงานเองทั้งหมด มีเรื่องคนด่ายับ ปัญหาที่สำคัญที่คนอื่นไม่รู้ว่าตำรวจต้องควักกระเป๋เอง หาพยานหลักฐานเอง ถ้าเป็นตำรวจ เอฟบีไอ ต้นสังกัดเป็นคนจ่าย แต่ตำรวจไทย สอบสวนแต่ละคดีต้องควักกระเป๋าทั้งนั้น ไม่ว่าน้ำมัน หลวงให้ก็จริงแต่มีจำนวนจำกัด หมดคือหมด ตอนนี้หมดต้องควักเอง น้ำมัน 500ลิตร ใช้ได้ 20วัน อีก 10วันทำอย่างไร ปฏิรูปไม่เคยพูดถึงงบประมาณ” พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าว

อดีตรองผบ.ตร.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ให้การแต่งตั้งตำรวจประเมินจากความพึงพอใจของประชน ควรให้ลูกน้องประเมินนายประเมินผู้บังคับบัญชาจะดีกว่า เพราะใกล้ชิดกันจริงผู้บังคับบัญชาเป็นอย่างไรรู้กันหมด


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img