“ถือเป็นโอกาสอันดีที่กรุงเทพมหานครได้ทำงานเพื่อสนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาความรู้และสร้างอาชีพแก่ผู้ต้องขังและผู้ด้อยโอกาส ให้ได้มีโอกาสฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาทักษะและศักยภาพ เพื่อนำไปประกอบอาชีพในภายภาคหน้า ขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุกท่านที่ทำให้เกิดความร่วมมือกันในการจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้” นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสร่วมพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จำนวน 420 ชั่วโมง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร วันนี้ (7 พ.ค. 67)
ในการนี้ พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ 908 และรองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นประธานในพิธี รองศาสตราจารย์ อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะผู้บริหารและผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมอนามัย ทัณฑสถานหญิงกลาง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ตลอดจนคณะวิทยากรจากคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร และผู้เข้ารับการอบรม ร่วมพิธีเปิด
จุดเริ่มต้นของการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงมีพระเมตตาพระราชทานคำแนะนำให้ทดลองให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงแก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้มีทักษะอาชีพนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมต่อไป
กองทุนกำลังใจฯ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จึงได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร โดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จำนวน 420 ชั่วโมง แก่ผู้ต้องขังจำนวน 11 คน ระหว่างวันที่ 7 พ.ค. – 22 ส.ค. 67 ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรุงเทพมหานคร
โดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรม รวมถึงให้ความอนุเคราะห์ทางด้านหลักสูตรพัฒนาศักยภาพการสอนสำหรับพยาบาลพี่เลี้ยงแก่เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จำนวน 2 คน ซึ่งการอบรมดังกล่าวดำเนินการโดยคณาจารย์จากคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
นอกจากนี้ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ยังได้สนับสนุนวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังในโครงการกำลังใจฯ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ จำนวน 7 วิชา ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น โหราศาสตร์ การเงิน ทำอาหาร และเสริมสวย โดยวิชาทำอาหารและเสริมสวยจะเป็นการสอนแบบออนไซต์ ซึ่งดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 3 เรือนจำ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงกลาง ทัณฑสถานหญิงธนบุรี และเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในส่วนของ 4 วิชาที่ดำเนินการอบรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น โหราศาสตร์ และการเงิน