กมธ.ความมั่นคง ประชุมถกปัญหา-สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ.

195

วันนี้(25 เม.ย.67) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.ความมั่นคงพูดได้พูดคุยเกี่ยวกับปัญหา-สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงต่อกมธ.

จากการประชุมพบว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาสถานการณ์ในประเทศเมียนมานั้น มีพัฒนาการที่รุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และได้ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อคนไทย รวมทั้งมีผู้อพยพหนีการสู้รบเข้ามายังฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีมาตรการและแผนการรับมือที่รอบคอบและรัดกุม จากที่ประชุมกมธ.ในวันนี้เอง เราได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลถึงการบริการจัดการและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

โดยในระยะสั้น จากการที่สมช.นั้นได้แจ้งต่อกมธ.ว่าจะมีการใช้ SOP ฉบับใหม่ ซึ่งใช้รองรับผู้หนีภัย ที่อาจมีมากถึงแสนคน ปัจจุบันนี้ SOP ฉบับใหม่นั้น รอการอนุมัติจากรัฐบาล ด้วยเหตุนี้เอง กมธ.จึงมีความเห็นว่า SOP ฉบับใหม่ ควรเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการอนุมัติ เพื่อใช้ SOP ฉบับใหม่นี้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการสถานการณ์ของหน่วยผู้รับผิดชอบต่าง ๆ

ประการถัดมาซึ่งเป็นแนวทางระยะสั้นนั้นคือการดำเนินทางมนุษยธรรม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ได้เห็นว่ากระทรวงต่างประเทศเองก็ได้มีการดำเนินการส่งสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็น ไปยังฝั่งเมียนมา แต่ทั้งนี้เองจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันของมิตรประเทศต่าง ๆ หรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปฏิบัติการนี้เกิดความยั่งยืน ครอบคลุมการช่วยเหลือได้มากกว่าเดิม และป้องกันการทะลักข้ามแดนมาฝั่งไทยได้อีกทางด้วย

ประเด็นที่สามคือการเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา ในเรื่องการโจมตีทางอากาศ เพราะเนื่องจากการโจมตีดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุสำคัญในอพยพข้ามแดนของคนที่หนีภัยสงครามข้ามมายังฝั่งไทย และคนไทยก็ได้รับผลกระทบอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งจากการประชุมกมธ.วันนี้ก็ได้ทราบว่าไทยเป็นคู่ค้าน้ำมันกับรัฐบาลทหารเมียนมามากถึง15 % ซึ่งอาจมีการนำน้ำมันบางส่วนนี้มาใช้สนับสนุนปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและการสู้รบด้วย ดังนั้นสิ่งนี้เองก็จะเป็นเครื่องมืออีกทางสำหรับไทย ในการใช้เจรจาต่อรองเพื่อการสร้างสันติภาพในเมียนมาได้ และเป็นในแนวทางเดียวกันกับมติที่ประชุม G7 ว่าไม่ควรมีการขายน้ำมันเพื่อสนับสนุนการสู้รบให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาอีกต่อไป

ส่วนข้อเสนอระยะกลางนั้น ในประเด็นแรก จำเป็นต้องมีการเจรจากับทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาไม่เฉพาะแต่ปัญหาการสู้รบในประเทศเมียนมา ยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์ ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ดังนั้นการเริ่มเจรจากับทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการปูทางไปสู่การแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป

ประเด็นถัดมา หากนับตั้งแต่มีการรัฐประหารในประเทศเมียนมาเป็นต้นมา เราจะพบว่ามีทั้งผู้หนีภัยการสู้รบ ผู้หนีภัยทางเศรษฐกิจ และผู้อพยพอื่น ๆ เข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และหลายครั้งก็มีการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยด้วย อย่างไรก็ตามไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้คนเหล่านี้อยู่ในมุมมืด อยู่ในซอกหลืบและเป็นแหล่งผลประโยชน์ในกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกต่อไป ข้อเสนอของกมธ.ก็คือการใช้กลไกการขึ้นทะเบียน การออกบัตรสถานะแสดงตัวตน เพื่อการตรวจสอบได้ง่าย อีกทั้งอาจใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้ความเห็นชอบให้ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในราชอาณาจักรที่ไม่ได้รับการอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดลง และมีความจำเป็นต้องทำงานเลี้ยงชีพ ศึกษาต่อ ก็ให้สามารถอาศัยหรือทำงานได้ชั่วคราว เพื่อให้เข้าสู่การดำเนินการตามกฎหมายในอนาคต สิ่งนี้เองจะเเก้ปัญหาในการบริหารจัดการผู้หนีภัยสงคราม การทุจจริตในภาคราชการ รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาการขาดแรงงานในภาคเศรษฐกิจได้อีกด้วย

ประเด็นถัดมาคือการตั้งคณะอนุฯ หรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาและแก้ปัญหาที่อาจมีความเป็นไปได้ว่า มีปฏิบัติการบางอย่างที่ทำให้ประเทศไทยนั้นเป็นฐานการฟอกเงินของเครือข่ายต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมายหรือไปสนับสนุนการสงครามในเมียนมาได้ นอกนั้นไทยยังต้องเร่งพิจรณาประสานงานจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งระดับอาเซียนและระดับนานประชาติ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการแก้ปัยหา

ส่วนข้อเสนอระยะยาวนั้น คือไทยจำเป็นต้องมีการพูดคุยถึงอนาคตของสถานการณ์ในเมียนมา โดยใช้ตัวแบบจากกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการที่ไทยเข้าไปมีบทบาทในการเป็น ผู้อำนวยความสะดวกในการสร้างสันติภาพเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาได้ ซึ่งกลไกนี้เอง ไทยมีศะักยภาพเพียงพอในการพูดคุยกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่บทสนทนาเเห่งความหวังในการสร้างสันติภาพ ส่งเสริมประชาธิปไตย และหนุนเสริมความมั่นคงในประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศเมียนมาแต่อย่างใด แต่ข้อเสนอเหล่านี้คือการทำงานเชิงรุกของไทยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาอาชญากรรมอื่น ๆ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย มีผลกระทบโดยตรงกับคนในพื้นที่ และมีผลกระทบโดยตรงกับสิทธิมนุษยชนที่ทั้งไทยและทั่วโลกนั้นให้ความสำคัญมาโดยตลอดครับ

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #กมธ