ทันที ที่การปรับ ครม.สิ้นสุดลง หลังจากที่มีการโปรดเกล้าฯ ตามธรรมเนียมโฟกัสของ “คนทำข่าว” ในวัฏจักรปกติ คงต้องจับตารัฐมนตรีป้ายแดงย่อมแอ๊คชั่นทำงาน แต่กับการปรับ ครม.ครั้งแรกของ รัฐบาลเศรษฐา มี “อาฟเตอร์ช็อก” เกิดขึ้นถึง 2 ระลอกในวันเดียว ตั้งแต่การทิ้งทวนของ “หมอชลน่าน” ที่ทิ้งกาพย์กลอน
ชลน่านพลีชีพโดดเดี่ยวโดนกระทืบ ผู้คนหนีเข้าซอกหลืบหลบมุมไหน พอผ่านพ้นผู้คนตะเกียกตะกาย
เหยียบย่ำแย่งเป็นใหญ่ไร้ยางอาย อันเป็นการสะท้อนว่าสู้เพื่อพรรคเพื่อไทย แต่ทำไมต้องหลุดจากเก้าอี้ก่อนใครเพื่อนเพียงผู้เดียว เพราะเสมือนขุนพลด่านหน้า อาสาสู้เพื่อพรรค โดนม็อบเหยียบภาพใบหน้า โดนด่าตอนตระบัดสัตย์ และได้รับเกียรติหลุดคนแรกๆ ตั้งแต่มีข่าวจะปรับ ครม.แล้วก็หลุดจริง แถมไม่มีที่รองรับว่าจะเยียวยาจิตใจแบบใด การได้เป็นรัฐมนตรีเพียง7เดือน ในช่วงที่งบประมาณไม่ได้เบิกจ่าย ในช่วงที่การวางนโบบายก็ยังไม่เห็นผล แต่ต้องเป็นคนเก็บกระเป๋าคนแรก จนคนสงสัยถึงความเป็นด่าหน้า อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ไปแบบไม่สวย แม้จะยังเหลือตำแหน่ง สส.ปกติอยู่ก็ตาม แต่การถูกจดจำและจองจำติดตัว อดีต รมว.สาธารณสุขผู้นี้ไปแล้วเรียบร้อย การปรับ “หมอ” ที่คุมกระทรวงหมอ แล้วเอานักการเมืองมาคุมหมอ ไม่รู้ว่ามีอะไรหรือไม่ หรือความเหมาะสมเป็นอย่างไรคงต้องดูกันไปเรื่อยๆ แต่ทันทีที่ระเบิดลูกแรกเกิดที่สาธารณสุข ระเบิดอาฟเตอร์ช็อกที่ใหญ่กว่าคือการยื่นหนังสือลาออกเอง โดยที่ไม่ต้องปรับออกแต่ไปเองของ อดีต รมว.ต่างประเทศ ปานปรีย์ ที่เปิดใจถึงเรื่องราวที่อยู่ในใจและถ้าใครได้อ่านจดหมายย่อมรู้ดีว่า “คิดมาอย่างดี” ถ้ามีการปรับออก
“สาเหตุของการปรับผมออกจากรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ผมเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับผมไม่มีผลงานแน่นอน เพราะผมทุ่มเทการทํางานด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และตั้งใจทําหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนมากขึ้น ตามที่รัฐบาลได้แถลงผลงานไป” และทิ้งท้ายว่า “ผมหวังว่าการปรับคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จะช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น โปร่งใส และรักษาผลประโยชน์ของชาติต่อไป” แต่ละข้อความที่ออกมาจาก อดีต รองนายกฯ ชี้ให้ให้ “ความไม่ปกติ” ในการปรับ ครม.ครั้งนี้
ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นที่ปรากฏให้เห็นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็น “ภาพหน้าฉาก” ยังไม่รวมคลื่นใต้น้ำ มีผู้ทั้งสมหวังและผิดหวังไม่น้อยจากการเลือกคลอด ครม.ออกมาหน้าตาแบบนี้ คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในหัวทันทีคือ “ใครได้ประโยชน์” ? จากการจัดวางขุนพลขับเคลื่อนโยบาย แล้วใช้ความมั่นใจอะไรว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีความนิยมดีขึ้น ? หรือเป็นเพียงการคาดคะเนเอาเองคนคนในโลกการเมืองแบบเก่าๆ ที่ยังคิดเดินหมากเกมแบบเก่าๆ ท่ามกลางโลกที่มันดิสรัปชั่นทุกหย่อมหญ้า ความสำเร็จ สูตรสำเร็จเมื่อ20ปีที่แล้ว ไม่ได้แปลว่าจะใช้แล้วได้ผลแบบเดียวกับ20ปีถัดมา ที่ผู้คนมีความรู้ มีภูมิคุ้มกันที่มากขึ้นในการรู้เท่าทันคนเล่นการเมือง
และจากที่ “คอลัมน์ครุ่นคิด” พยายามชี้มาตลอด ว่าการปรับแต่ละครั้งไม่รู้ว่า มีประชาชนอยู่ในสมการบ้างหรือไม่ หลายคนน่าจะพอเห็นคำตอบ การ “ดูแลเพียงพรรคเดียว” ของ “พลังประชารัฐ” ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปรับ โควต้าพรรคอื่นออกหมดแล้วเหลือแต่ พปชร. หรือการมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกถึง3คน ตลอดจนกระทรวงอีกหลายแห่งที่ประชาชนยังไม่เห็นผลงานก็ยังไม่รู้ว่าการปรับครั้งนี้มีประชาชนอยู่ในหัวใจหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงการกระชับอำนาจภายในของพรคการเมือง หรือเจ้าของพรรคการเมืองคนไหนกันแน่ อันนี้ไม่มีคำตอบ แต่เป็น “คำถามสำคัญ” ที่ประชาชนคนถามตัวเองทุกวันๆ ว่าหมากเกมนี้ใครได้ประโยชน์ และรอยแยกความขัดแย้งที่ค่อยๆ ปรากฎภาพให้เห็นอย่างน้อยๆ 2กรณีในสัปดาห์เดียวนี้ ยังมี “ใต้พรม”ที่ซ่อนปัญหาในสมการที่ไร้ประชาชนหรือไม่ เป็นสิ่งที่อยากให้ประชาชนหาคำตอบเอาเองซึ่งไม่น่ายากจนเกินไป!