กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นครั้งเเรกในประเทศไทย (New record) ชี้มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพ เผยตลาดต้องการน้ำผึ้งชนิดนี้สูงมาก
นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานแถลงข่าว “การค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทย” ร่วมด้วยทีมนักวิจัย นายอิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ (กรมอุทยานแห่งชาติฯ) นายนนธวัช ฉัตรธนบูรณ์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ และ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมศึกษาผึ้งหลวงหิมาลัยที่เคยพบเฉพาะในแนวเทือกเขาหิมาลัยของเนปาลและอินเดีย ในวันที่ 19 เมษายน 2567 เวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (H.A. Slade) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร
นายทรงเกียรติ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ผึ้งหลวงหิมาลัย (ApislaboriosaSmith, 1871) ที่พบในครั้งนี้ อยู่ในบริเวณหน้าผาสูงของอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการพบเจอตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อยู่ในช่วงเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดของตัวผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นผึ้งหลวงอีกชนิดนอกเหนือจากผึ้งหลวงทั่วไป (Apis dorsataFabricius, 1793) ที่เราสามารถพบเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีการสร้างรังที่ขนาดใหญ่เป็นคอนเดี่ยว
ลักษณะที่แตกต่างที่สำคัญของผึ้งหลวงหิมาลัย ได้แก่ ปล้องท้องที่มักมีสีดำสนิท และขนรอบบริเวณปล้องอกที่มีสีเหลืองทอง ผึ้งหลวงหิมาลัยสามารถพบในบริเวณภูเขาสูงตั้งแต่ <1,000 -4,500+ เมตรจากระดับน้ำทะเลและในพื้นที่มีอากาศเย็น (< 25°C) และยังเป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญและจำเพาะต่อสังคมพืชในระบบนิเวศที่สูง นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีในวงการผู้เลี้ยงผึ้งและศึกษาผึ้งทั่วโลกว่าน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศอินเดียและเนปาล มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่แตกต่างจากน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงทั่วไปและผึ้งชนิดอื่น ๆ ในธรรมชาติ และเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาด อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่ต้องได้รับการศึกษาเพิ่มจากผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบในประเทศไทยต่อไป
นายทรงเกียรติ กล่าวอีกว่า การค้นพบในครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลาย ทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย ที่กำลังถูกรุกรานจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ของผึ้งชนิดต่าง ๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) แต่ก็ยังสามารถพบผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบยังเป็นผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis ชนิดที่ 5 ของประเทศไทย จากเดิมที่มีรายงานอยู่เพียง 4 ชนิด คือ ผึ้งหลวง (Apis dorsata) ผึ้งมิ้ม (Apis florea) ผึ้งม้าน (Apis andreniformis) และผึ้งโพรง (Apiscerana) ซึ่งไม่รวมผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์ต่างถิ่น