IT Talk แนะนำ Google Play Protect ป้องกันแอปดูดเงินและบล็อกลิงก์แปลกปลอม

2801

สวัสดีครับผู้อ่านคอลัมน์ IT Talk ทุกท่านประเทศไทยมีคดีหลอกลวงและกลโกงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้คนจะตระหนักถึงกลโกงทางออนไลน์กันมากขึ้น แต่จากการสำรวจที่ Google ทำร่วมกับ Qualtrics กลับพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งๆ ที่มีความมั่นใจว่าตนเองนั้นสามารถมองกลโกงออกและหลีกเลี่ยงได้ วันนี้คอลัมน์ IT Talk จะพามารู้จักกับ Google Play Protect ที่สามารถช่วย ป้องกันแอปดูดเงินและบล็อกลิงก์แปลกปลอม ให้คุณผู้อ่านสบายใจได้มากยิ่งขึ้นครับ

Google ได้ประกาศความร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับคนไทยผ่านฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ เพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้ Android จากการหลอกลวงและกลโกงทางการเงิน Google เริ่มนำร่อง Google Play Protect ใหม่ ตั้งแต่วันนี้ โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก (ต่อจากสิงคโปร์) ที่ Google ได้นำร่องฟีเจอร์นี้ และเราจะคอยติดตามผลการทำงานของฟีเจอร์นี้อย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อประเมินผลกระทบและทำการปรับปรุงที่จำเป็นต่อไป

ฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect จะช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์ Android จากกลลวงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก (ต่อจากสิงคโปร์) ที่ Google ได้นำร่องฟีเจอร์นี้ ถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ขึ้นไปอีกขั้นนอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยในตัวแบบหลายชั้นที่มีอยู่แล้วทั้งบน Android และ Google Play ซึ่งรวมถึงการป้องกันสแปมใน Google Messages, Google Safe Browsing ใน Chrome และ Google Play Protect ที่ตอนนี้มีการสแกนแอปแบบเรียลไทม์เพิ่มเข้ามาด้วย

หากผู้ใช้พยายามจะติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์ ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ ทั้งนี้ฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ จะตรวจสอบสิทธิ์ของแอปแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะสิทธิ์ 4 รายการนี้ ซึ่งได้แก่ การอ่าน SMS (READ_SMS) การรับ SMS (RECEIVE_SMS) การช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) และการฟังการแจ้งเตือน (BIND_Notifications) ซึ่งมิจฉาชีพมักจะใช้สิทธิ์เหล่านี้เพื่อดักจับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียวที่ส่งมาทาง SMS หรือการแจ้งเตือน รวมทั้งแอบส่องเนื้อหาบนหน้าจอของผู้ใช้และจากการวิเคราะห์กลุ่มมัลแวร์สำหรับกลโกงหลักๆ ที่ใช้ประโยชน์จากสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อนเหล่านี้ พบว่ากว่า 95% ของการติดตั้งมาจากแหล่งที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต

นอกเหนือจากการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์แล้ว Google ยังได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความรู้และส่งเสริมความตระหนักด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อช่วยให้คนไทยทุกคนมีข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ ในปีนี้ ประกาศจัดแคมเปญ Pause Check Protect ที่จะชวนคนไทยตั้งสติ ตรวจสอบ ป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ โดยจัดกิจกรรม Safer Songkran ภายใต้โครงการ Safer with Google ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้และนำเสนอเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้แก่คนไทยอีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับความรู้เกี่ยวกับ Google Play Protec ที่ทางคอลัมน์ IT Talk ได้รวบรวมมาให้ทางผู้อ่านแล้ว จะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพไม่หยุดพัฒนาวิธีใหม่เพื่อหลอกเอาเงินของคุณเราจึงต้องรู้เท่าทันและรู้เครื่องมือที่ใช้รับมือให้ได้ครับ และเช่นเคย ถ้าหากมีข้อมูลดีๆ สาระดีๆแบบนี้ทางคอลัมน์ IT Talk ก็จะนำมาฝากกันอีกแน่นอนครับ