ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความเฟสบุ๊ค กล่าวตั้งคำถามว่า “คำสั่งสตช.เปิดรับสมัครตำแหน่งพนักงานสอบสวน 250 อัตรา รับเฉพาะเพศชาย (จบเนติบัณฑิต) ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ ผู้หญิงจบเนติบัณฑิต ระหว่างปี2556-2560มี2,843คน ทำไมเขาถึงไม่มีสิทธิสมัครตำแหน่งพนักงานสอบสวน?” ดร.รัชดา กล่าวต่อโดยระบุว่า “ร่วมเสวนากับเครือข่ายสตรี มีทั้งนักการเมือง ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

แสดงความเห็นไป 3 ประเด็นหลัก คือ
1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่กลับออกคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 27 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้กฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้น่ากังวลเพราะสังคมอาจตั้งคำถามได้ว่า กฎหมายที่ออกมามากมายเป็นร้อยฉบับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่ต้องบังคับใช้กฎหมายทั้ง สตช. และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ได้รับทราบหรือไม่ว่ามีกฎหมายใดบ้างที่ออกมาบังคับใช้แล้ว และหน่วยงานรัฐเข้าใจสาระของกฎหมายนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ยิ่งกรณีในเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้หญิงและเด็ก เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
2.การปล่อยให้มีคำสั่งที่ผิดกฎหมายเช่นนี้ ออกมาโดยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพิกเฉย ไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง แสดงให้เห็นท่าทีว่า ภาครัฐไม่เอาจริงเอาจังต่อการสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ ละเลยต่อการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติ ทั้งๆที่บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาสตรี ปี 2560-2564 ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการเสริมสร้างความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้แผนยุทธศาสตร์จะเป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่งที่ไม่สามารถนำไปสู่การบรรลุผลในทางปฏิบัติได้

3.การไม่รับพนักงานสอบสวนหญิง แสดงถึงความไม่เข้าใจว่าพนักงานสอบสวนหญิงนั้นเป็นบุคคลากรที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ทุกวันนี้มีคดีผู้หญิงถูกข่มขืนประมาณ 30,000 กรณีต่อปี เฉลี่ยทุกๆ 15 นาที จะมีผู้หญิงถูกข่มขืน 1 คน แต่มีประมาณ 4,000 กรณีที่เจ้าทุกข์เข้าแจ้งความ และมีผู้กระทำผิดประมาณ 2,400 คนเท่านั้นที่ถูกจับกุม สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผู้เสียหายไม่แจ้งความเป็นเพราะไม่อยากเผชิญกับคำถามหรือท่าทีของพนักงานสอบสวนที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเสมือนถูกข่มขืนซ้ำอีกครั้ง แต่หากเป็นพนักงานสอบสวนหญิงจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่า เพราะจะมีความเห็นอกเห็นใจ ความนุ่มนวล และผู้เสียหายหญิงเองก็รู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับพนักงานสอบสวนหญิงเพราะเป็นเพศเดียวกัน ในหลายประเทศเช่น บราซิล เปรู อินเดีย ฟิลิปปินส์ มีรายงานแสดงให้เห็นว่าการมีพนักงานสอบสวนหญิงทำให้มีการแจ้งความมากขึ้น นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและคนผิดได้รับโทษ

ข้อสรุปจากการเสวนาครั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะ
1.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทบทวนคำสั่งและพิจารณาให้เป็นโฆษะ ทางเครือข่ายจะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย
2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิง อีกทั้งให้มีการอบรมพนักงานสอบสวนทั้งชายและหญิง ให้มีความเข้าใจในเรื่องความละเอียดอ่อนของการสอบสวนคดีทางเพศ
3.ภาครัฐต้องติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ ว่ามีการกระทำใดหรือคำสั่งใดที่เป็นการเปลือกปฏิบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ”

คำสั่งสตช.เปิดรับสมัครตำแหน่งพนักงานสอบสวน 250 อัตรา รับเฉพาะเพศชาย (จบเนติบัณฑิต)…

โพสต์โดย ดร.รัชดา ธนาดิเรก – พรรคประชาธิปัตย์ เขตบางพลัด-บางกอกน้อย เมื่อ วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2018