รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ยกให้ โรงพยาบาลแม่ใจ จ.พะเยา เป็นต้นแบบผลิตยาสมุนไพรคุณภาพครบวงจร ผ่านการรับรองมาตรฐาน WHO GMP มอบกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันวิจัยพัฒนา ตรวจสอบคุณภาพ เพื่อผลิตยาสมุนไพรใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน พร้อมส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
วันที่ 4 เม.ย. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชสมุนไพร โดยการยกระดับผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน สนับสนุนให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จากการตรวจเยี่ยมรพ.แม่ใจ อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบว่าเป็นต้นแบบในการพัฒนาการผลิตยาสมุนไพรร่วมกับชุมชนตั้งแต่ ปี 2542 สำหรับใช้ในโรงพยาบาลและเครือข่ายสถานบริการใน จ.พะเยา โดยเป็นการพัฒนาสมุนไพรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูก-ผลิตสมุนไพรใน อ.แม่ใจ และอำเภออื่น ๆ ใน จ.พะเยา ในการปลูกและผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย
นายสันติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจและชุมชนในพื้นที่ได้ผลิตวัตถุดิบสมุนไพร ประกอบด้วย ขมิ้นชัน หญ้าดอกขาว ไพล ชุมเห็ดเทศ เสลดพังพอนตัวเมีย (พญายอ) ฟ้าทะลายโจร ผิดมะกรูด ใบส้มป่อย ตะไคร้ ใบกะเพราแห้ง ใบมะขาม บอระเพ็ด รางจืด เพชรสังฆาต และขิง เพื่อส่งให้โรงงานของโรงพยาบาล ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรที่ดี (WHO GMP) จากกรมการแพทย์แผนไทยฯ ผลิตยาสมุนไพรใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน อาทิ เจลว่านหางจระเข้ ทดแทนยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก, ยาผสมเพชรสังฆาต ทดแทนยารักษาริดสีดวงทวาร, เจลพริก/ครีมไพล ทดแทนบาล์มหรือเจลบรรเทาปวด, ยาเถาวัลย์เปรียง ทดแทน ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs, ขมิ้นชัน ทดแทนยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร และตรีผลา ทดแทนยาแก้ไอ เป็นต้น โดยมีการผลิตยาสมุนไพรเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขตบริการสุขภาพ ที่ 1 รวม 26 รายการ
รมช.สธ.กล่าวว่า นอกจากนี้ รพ.แม่ใจยังหนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเปิดศูนย์สุขภาพแผนไทย ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยอย่างมืออาชีพ ทั้งนวดประคบ อบสมุนไพร โดยนักการแพทย์แผนไทยปริญญา พร้อมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาตรฐาน GMP ที่ใช้วัตถุดิบสมุนไพรจากชุมชนต้นน้ำกว้าน โดยในอนาคตเตรียมยกระดับเป็นศูนย์เวลเนส (Wellness Center) ที่มีการเชื่อมต่อการท่องเที่ยวกับพื้นที่ต่างๆ อาทิ ปางปูเลาะ ผาแดง ป่าเมี่ยง ซึ่งจะเป็นการขยายตลาดยกระดับวัตถุดิบสมุนไพรให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น
“การส่งเสริมให้พืชสมุนไพรช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ต้องให้ความสำคัญเรื่องของการสร้างมาตรฐาน จึงได้มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกันวิจัยพัฒนา และตรวจสอบคุณภาพสมุนไพร เพื่อผลิตยาสมุนไพรสำหรับใช้ในระบบบริการทางการแพทย์ทดแทนยาแผนปัจจุบัน และช่วยส่งเสริมศักยภาพโรงพยาบาลชุมชน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในการปลูกสมุนไพรให้เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรหันมาปลูกสมุนไพรได้ให้มากขึ้น รวมทั้งมีการวิจัยสรรพคุณพืชสมุนไพรต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปกับการหาวิธีลดระดับสารปนเปื้อนในผักและสมุนไพร เพื่อให้ประชาชนบริโภคได้อย่างปลอดภัย” นายสันติ กล่าว