ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่บทความภายใต้ชื่อเรื่อง “ทำไมคดีคอร์รัปชันจึงช้าและคนโกงไม่ถูกลงโทษ” โดยมีเนื้อหาซึ่งระบุว่า มักมีคำถามว่า ทำไมคนโกงจำนวนมากไม่โดนลงโทษ และรู้ว่าโกงตั้งหลายปีแล้วแต่ทำไมถึงคดีช้าเหลือเกิน ที่หมดอายุความหรือหลุดรอดความผิดไปเลยก็มี จนหลายคนหมดหวังไม่อยากยุ่งเรื่องต่อต้านคอร์รัปชัน ขณะที่คนโกงก็ย่ามใจว่าโกงแล้วรวยไม่มีใครเอาผิดตนได้ เรื่องนี้คำตอบมีหลายอย่าง

1.คอร์รัปชันมักเกี่ยวข้องกับคนมีอำนาจ มีอิทธิพลและลงมือเป็นขบวนการ ดังนั้นผู้รู้เห็นย่อมหวาดกลัว ขณะที่การปกปิดหลักฐานก็ทำได้แนบเนียน มีแต่พวกโกงเล็กโกงน้อยเท่านั้นที่มักประมาทและขาดพวกพ้องคอยแนะนำช่วยเหลือ

2.สังคมไทยเต็มไปด้วยพวกพ้องและเครือข่ายอุปถัมภ์ เมื่อมีปัญหาก็เกรงใจ มีการขอร้องแบบคนกันเอง ผิดบ้างถูกบ้างช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกัน โดยไม่แยกแยะว่าอะไรเป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวม ขณะที่กลไกตรวจจับและกระบวนการยุติธรรมก็ยังพอซื้อขายกันได้

3.คนในหน่วยงานโกงเสียเอง จึงรู้ข้อมูล รู้กฎระเบียบ รู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี

4.ขั้นตอนทางกฎหมายยุ่งยากใช้เวลายาวนาน กว่าจะผ่าน ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. จนถึงอัยการและศาล ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการให้โปร่งใสเป็นธรรมอย่างเต็มที่ หรือกฎหมายโบราณ ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ไม่ทันเทคโนโลยีและโลกยุคใหม่ก็ได้

5.กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีมากและหลายเรื่องก็เกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ทำให้ยากต่อการชี้ชัดว่าการกระทำใดถูกหรือผิด กรณีนี้หากเปรียบเทียบกับกฎหมายของฮ่องกง และมาเลเซียที่กำหนดว่า หากเอกชนให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ถือเป็นความผิดแล้วไม่ต้องเสียเวลาตีความหรือพิสูจน์เจตนาแรงจูงใจกันอีก จากนั้นเป็นหน้าที่ของคู่กรณีที่ต้องหาทางพิสูจน์ความบริสุทธิ์เอาเอง น่าจะเหมาะสมกว่า

ที่แน่ๆ คดีคอร์รัปชันในบ้านเรามีมากเสียจนเกินความสามารถที่รัฐจะเข้าไปจัดการได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที และที่ได้ยินบ่อยก็คือ ใครมีอำนาจก็มักปล่อยปละละเลยกับพวกของตัวเอง บ้างก็อ้างเอาเองว่าเร่งทำไปก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น อย่างนี้แหละที่ทำให้คนโกงได้ใจ แต่คนดีท้อ

เครดิต: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)