เชื่อว่าบรรดาชาวสีกากีคงไม่มีใครปฏิเสธว่าชนวนความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงขั้นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)สั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ต้นตอหนึ่งมาจากกฎหมายและกติกา การแต่งตั้งโยกย้ายไร้ความศักดิ์สิทธิ์
หากย้อนดูตลอดเวลากว่า 8 ปี ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ครองอำนาจกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะพบว่าองค์กรตำรวจถูกปู้ยี่ปู้ยำอย่างหนัก กติกาการแต่งตั้งโยกย้ายถูกละเลย ผบ.ตร.ไร้ภาวะผู้นำเป็นได้แค่เจว็ด
ส่งผลให้การแต่งตั้งโยกย้ายทุกครั้งจะเห็นตำรวจไร้ประสบการณ์งานตำรวจ ผงาดเป็นผู้นำหน่วยแบบยกแผง เพียงมีคุณสมบัติกล้าหาผลประโยชน์ และสอพลอเก่ง เพราะบิ๊กที่คุมตำรวจบางคนเน้นรับผลประโยชน์ ชมชอบพวกสอพลอ หากตำรวจคนไหนที่พึ่งบารมีแล้วได้ตำแหน่ง ถึงวันหยุดช่วงจะกินอาหารเช้าต้องไปเสนอหน้าหากไม่เจอจะถามหา แม้แต่ ผบ.ตร.บางคนออกกำลังกายเพลิน เกรงจะไม่ทันเสนอหน้ายังต้องสวมชุดวอร์มไปยืนรอรับ
ในช่วง คสช.เรืองอำนาจ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ที่ในอดีตแทบจะไม่เคยก่อนมาก่อน นั่นคือเมื่อผลการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเกือบทุกระดับถูกประกาศออกมา จะมีตำรวจที่ใช้ผลงานเป็นตัวขับเคลื่อนยืนใบลาออกจำนวนมาก บางโรงพักพนักงานสอบสวนพร้อมใจกันออกแบบยกแผง
จากผลพวงดังกล่าวส่งผลให้องค์กรตำรวจได้ผู้นำแบบไร้ประสบการณ์ ขาดความรอบรู้ในงานสืบสวน สอบสวน ขาดความรอบรู้ในเชิงบริหารงานตำรวจ ขยับเป็นผู้นำหน่วยทั้งระดับกลางและระดับสูงเป็นจำนวนมาก
หากมองเชิงวิเคราะห์ถึงอาชีพตำรวจ พออนุมานได้ว่าเป็นอาชีพพิเศษ เพราะทุกหน้างานล้วนต้องปฏิบัติจริงเพื่อสั่งสมประสบการณ์ จนเกิดความช่ำชอง อย่างงานสืบสวนกว่าจะสืบสวนจับกุมคนร้ายได้ ต้องใช้เวลาในการสร้างสายข่าวเพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หรือบางนายถูกสั่งให้เฝ้าจุดต้องสงสัย ต้องนั่งเฝ้านอนเฝ้าคอยสังเกตการณ์ครั้งละหลายวัน บางครั้งนานนับเดือนกว่าจะได้ข้อมูลแล้วบุกจับคนร้ายได้
หรืองานสอบสวน ตำรวจส่วนใหญ่หากเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยง เพราะงานหนักทั้งปฏิบัติและทำสำนวน ในทางปฏิบัติต้องเข้าร้อยเวร พอเกิดเหตุต้องออกไปดูที่เกิดเหตุเพื่อรับคดี จับคนร้ายได้ต้องนำตัวส่งศาลเพื่อฝากขัง หลังออกเวรต้องมานั่งทำสำนวนคดีเพื่อส่งฟ้อง เมื่ออัยการรับคดีมีความเห็นสั่งฟ้อง ศาลรับฟ้องต้องไปเป็นพยานในฐานะเจ้าของสำนวนอีกต่างหาก
ถ้าคดีใดผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา เป็นเครือญาติ บิ๊กการเมือง บิ๊กข้าราชการ หรือผู้มีอิทธิพลในวงการต่างๆ พนักงานสอบสวนจะถูกกดดันอย่างหนัก โทรศัพท์จะมีสายเข้าตลอดเวลา จากกลุ่มบุคคลดังกล่าว เมื่อมองบริบททั้งงานสืบสวนและสอบสวน ล้วนแต่ต้องสั่งสมประสบการณ์แทบทั้งสิ้น พอขยับตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยจะเป็นผู้นำที่สง่างาม ไม่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาต้มตุ่นตบตาได้
ในยุคนี้มีหลายกรณีที่ผู้บังคับบัญชาถูกตบตาอย่างกรณีล่าเสี่ยแป้ง นาโหนด ผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์หลายคดดี มีการระดมกำลังตำรวจบุกเทือกเขาบรรทัดไล่ล่าแต่คว้าน้ำเหลว ตำรวจในปักษ์ใต้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าชุดไล่ล่ามีระดับนายพลเป็นหัวหน้าชุด ถูกตำรวจเครือข่ายเสี่ยแป้งลวงให้หลงกลและเสี่ยแป้งยังลอยนวลสบายใจเฉิบ หรือกรณีคดีทัวร์ศูนย์เหรียญช่วงสืบสวนจับกุมเป็นข่าวครึกโครม บทสรุปสุดท้ายศาลยกฟ้อง ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตกเป็นจำเลย ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายนับร้อยล้านบาท
ตัวอย่างที่ยกมาเพียงเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำตำรวจแต่ละกรณีนั้นมีศักยภาพเพียงใด หากถ้าเติบโตแบบมีประสบการณ์จริง ความล้มเหลวหรือถูกผู้ใต้บังคับบัญชาการตบตาคงไม่เกิด
ถ้าทอดตามองถึงเส้นทางเติบโตของพล.ต.ต.-พล.ต.อ.พบว่าส่วนใหญ่จะสัมผัสงานสืบสวนและสอบสวนแบบผิวเผิน เพราะต่างเติบโตด้วยการวิ่งเต้นหรือก้าวหน้าด้วยตำแหน่งนายเวรหรือหัวหน้าสำนักงานนายแทบทั้งสิ้น
จึงไม่แปลกเมื่อมีคดีใหญ่ๆระดับผู้บัญชาการบางนายอยู่ในอาการลนลาน แถมเจอผู้ใต้บังคับบัญชาหลอกให้หลงทางอีกต่างหาก แต่บางนายงานตำรวจไม่เน้นแต่เน้นผลประโยชน์ สั่งลูกน้องออกบินเก็บผลประโยชน์แบบข้ามประเทศยังมี ซึ่งผลพวงเหล่านี้ฉุดภาพลักษณ์ให้องค์กรตำรวจถดถอย ประชาชนไร้ศรัทธา ถ้านายกรัฐมนตรีและ ก.ตร. เปรียบเสมือนเสาหลักของสำนักปทุมวัน ต้องการสร้างองค์กรตำรวจให้เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชน ต้องนำเส้นทางเติบโต ของผู้บังคับบัญชาระดับ สูงขององกรค์สีกากีในยุค 6-7 ปีที่ผ่านมาถอดเป็นบทเรียนว่าโตแบบบ่มแก๊สแล้วผงาดนั้นไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก เพราะเกิดแล้วมีแต่เสียกับเสีย !!!