บรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.สัญจรที่จังหวัดพะเยา มีการระดมมวลชนแห่ต้อนรับสุดคึกคัก สมราคาเจ้าภาพอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผลการประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดและจังหวัดรวม 9 โครงการและภาคเอกชน 4 โครงการ รวมถึงให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินพะเยา ด้วย
สำหรับโครงการสร้างสนามบินพะเยาไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 2564 กรมท่าอากาศยานได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง โดยสำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ด้วยการจ้างบริษัทเอกชนศึกษาด้วยงบประมาณ 5,790,000 บาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมบอกว่า ผลการศึกษาคุ้มค่าในการลงทุน ตำแหน่งที่เหมาะสม ต.ดอนศรีชุม และ ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ ห่างจากตัวเมืองพะเยา 20 นาที มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท จะเสร็จใน 4 ปี รองรับผู้โดยสารประมาณ 80,000 คน/ปี
เมื่อประเด็นสร้างสนามบินพะเยาถูกจุดพลุขึ้นมา มีความเห็นที่หลากหลายจากทั้งชาวพะเยา ส่วนใหญ่สนับสนุน โดยเฉพาะภาคธุรกิจมองว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว การเดินทางติดต่อธุรกิจสะดวกขึ้น แม้ช่วงแรกอาจจะไม่คุ้มทุนแต่เชื่อว่าในอนาคตจะดีขึ้น
ขณะที่ชาวบ้าน จ.พะเยาบางส่วนมองว่า การใช้งบฯ 2,000 ล้านบาท อาจจะไม่คุ้มเพราะพะเยาเป็นเมืองขนาดเล็กประชากรน้อยและเป็นแค่ทางผ่าน
หากรัฐบาลคิดจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ควรศึกษาให้รอบด้านที่สุดไม่ใช่เพียงแค่อยากสร้างผลงานเอาหน้า หาเสียงกับคนในพื้นที่ สุดท้ายเมื่อสร้างเสร็จถูกปล่อยร้างกลายเป็นที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย
ซึ่งในอดีตมีการผลักดันสร้างสนามบินหลายแห่ง อาทิ จ.บุรีรัมย์ ชุมพร ร้อยเอ็ด ตราด และนครราชสีมา เป็นต้น หลายสนามบิน กว่าจะผลักดันให้มีสายการบินบินได้ถูกปล่อยร้าง ถูกสื่อมวลชนนำเสนอข่าวตีแผ่ว่าผลาญงบประมาณอย่างกว้างขวาง
อย่างสนามบินที่บุรีรัมย์ถูกปล่อยร้างหลายปีหลังเปิดบินเพียงไม่กี่เดือน แต่มาฟื้นและเปิดบินในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อ นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงหรือครูใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ที่ผันตัวเองมาอยู่เบื้องหลังการเมือง ปลุกปั้นธุรกิจ สร้างสโมสรฟุตบอล และสนามแข่งรถ ส่งผลให้ธุรกิจของบุรีรัมย์คึกคัก สนามบินจึงเปิดบริการ หรืออย่างกรณีสนามบินเบตง จ.ยะลา ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันให้สร้างหวังกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แต่สุดท้ายถูกปล่อยร้างเนื่องจากก่อนสร้างไม่ได้ศึกษาให้รอบด้าน
โดยเปิดใช้ปี 2565 ทำการบินได้ประมาณ 3 เดือน ต้องปิดตัวลง เพราะนกแอร์ รับภาระขาดทุนไม่ไหว แถมค่าตั๋วแพงลิบ รวมถึงปัญหาการขึ้นลงจะต้องล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศมาเลเซียอีกต่างหาก นักบินคนหนึ่งให้ความเห็นว่าการสร้างสนามบินเบตงเป็นประโยชน์ต่อคนในท้องถิ่นและคนที่อยากไปเที่ยวเบตงสักครั้งหนึ่งเท่านั้น เมื่อนักท่องเที่ยวไปเยือนแล้วส่วนใหญ่ไม่ได้ไปซ้ำ เพราะเบตงเป็นเมืองเล็กๆสถานที่ท้องเที่ยวไม่กี่แห่ง เมื่อเที่ยวเบตงจบจะไปเที่ยวต่อยะลาค่อนข้างเสียเวลาเพราะอยู่ห้างกันกว่า 140 กิโลเมตร แถมถนน 2ช่องจราจรทางค่อนข้างคดเคี้ยว
“จ.พะเยามีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะและนักท่องเที่ยวไปเที่ยวบ่อย แต่ส่วนใหญ่เที่ยวพะเยาจบจะเดินทางต่อเชียงราย ขณะที่วิถีชีวิตของคนพะเยาอยู่แบบเรียบง่าย ค่าครองชีพต่ำ หากมีสนามบินจะรับได้หรือไม่กับราคาตั๋วไปกลับเกือบครึ่งหมื่น แถมเวลานี้ราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศแพงหูฉี่ “นักบินระบุ
ครั้นมองถึงสภาพความจริงแล้วพะเยาอยู่ห่างจากเชียงราย 90 กิโลเมตร ถนนสี่ช่องจราจร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง อยู่ห่างจากลำปาง 103 กิโลเมตร ถนนสี่ช่องจราจรใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชั่วโมง ทั้งสองจังหวัดมีสนามบินอยู่แล้ว และขณะนี้โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ก็ผ่านจังหวัดพะเยา ช่วยเพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางไปสู่พะเยาอยู่แล้ว
เมื่อมองในภาพรวมการเดินทางสู่พะเยาถือ่ว่าสะดวกอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลคิดให้รอบคอบว่าการสร้างสนามบินนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมได้จริงหรือไม่ ถ้าคิดว่าคุ้มค่าก็ลงทุนไปเลย
แต่ประเมินข้อมูลจากหลายแหล่งแล้วและจากที่นำเสนอข้างต้น พออนุมานได้ว่าถ้าสร้างจริงจะเป็นการผลาญงบประมาณโดยไม่จำเป็นและโอกาสที่กลายเป็นสนามบินร้างแบบสนามบินเบตงมีสูงเช่นกัน
ดังนั้นอยากให้รัฐบาลตัดสินใจด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ไม่ใช่ตัดสินใจเพื่อให้นักการเมืองบางกลุ่มบางคนได้หน้าด้วยการผลาญงบประมาณของประชาชนหลายพันล้าน
สุดท้ายถูกปล่อยร้างกลายเป็นสถานที่ให้สิงห์ขี้ยารวมตัวพี้ยาหรือเพิ่มสถานที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายให้ชาวบ้านเหมือนหลายๆสนามบินในอดีต !!!