ศึกษาฯโดยมีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง

296

“องคมนตรี”ย้ำ“การศึกษาช่วยสร้างคนดีให้บ้านเมือง” เร่งแก้ปัญหาเด็กพื้นที่ห่างไกล ด้าน อว.ส่งเครือข่ายมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงลงพื้นที่ช่วยจัดการเรียนการสอน ผลิตสื่อการเรียนรู้ ทำให้ครูมีนวัตกรรมไปสอนเด็กให้ทันสมัย พร้อมขยายจำนวนโรงเรียนเครือข่ายทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ณ ห้องประชุมซาลอนเอและซาลอนบี ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นประธาน การประชุมโครงการการแสดงผลการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง โดย มี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดอว.พร้อมผู้บริหาร อว.เข้าร่วม

พล.อ.ไพบูลย์ ได้ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การศึกษาขั้นพื้นฐานกับความมั่นคงของชาติ” ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้องคมนตรีมีหน้าที่ดูแลเรื่องการศึกษา ในโครงการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนโครงการกองทุนการศึกษา โรงเรียนพระดาบส โรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน และโรงเรียนในโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติฯ จ.กาญจนบุรี ภายใต้มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ดูแลโครงการกองทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม ติดตาม ให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา โดยมุ่งเน้น “การสร้างคนดีให้บ้านเมือง” ทั้งนี้ ตนพบว่า นักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลประสบปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อาคารเรียน อาคารฝึกปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งหอพักนอนสำหรับนักศึกษาที่พักอาศัยอยู่ห่างไกล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาที่มีจำนวนจำกัด ในฐานะที่ทุกท่านในที่นี้เป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการศึกษา จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน และเกิดคุณภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของชาติต่อไป



ขณะที่ น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงหรือโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง คือการนำอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจาก 9 เครือข่ายทั่วประเทศไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูในโรงเรียนต่างๆ ในชุมชนต่างจังหวัด เพื่อช่วยจัดการเรียนการสอน และผลิตสื่อในการเรียนรู้ เพื่อให้ครูในโรงเรียนมีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสอนนักเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ครูมีนวัตกรรมที่จะนำไปสอนเด็กให้มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคนี้



“สิ่งที่โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงจะเน้นคือการเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนในชุมชนที่มีขนาดไม่ใหญ่ เป็นโรงเรียนที่ยังต้องการความช่วยเหลือและไม่ได้มีแค่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้าไป แต่ยังมีภาคเอกชนเข้าไปช่วยสอนช่วยพัฒนาด้วย ซึ่งต่างได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจนเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย สำหรับในปี 2567 มีแผนที่จะขยายจำนวนโรงเรียนเครือข่าย ขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของโรงเรียนทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด เป็นการช่วยพัฒนาโรงเรียนให้ส่งต่อนักเรียนที่มีคุณภาพเข้าสู่ภาคอุดมศึกษา เด็กสามารถสอบเข้าในคณะที่ตนเองต้องการได้ ผลงานที่ผ่านมาพอใจในระดับหนึ่ง แต่ต้องพัฒนาขึ้นไปอีก โดยเฉพาะสื่อการเรียนการสอนต้องมีนวัตกรรมมากกว่านี้ เจาะลงไปในโรงเรียนขนาดเล็กได้มากขึ้น และสามารถเพิ่มองค์ความรู้ให้กับนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนม.6 ที่กำลังจะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะทำให้อัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีมากขึ้นด้วย”​รมว.อว.กล่าว

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #องคมนตรี #ศุภมาส