“พัชรวาท” ลุยตรวจราชการเชียงราย เร่งรัด 17 โครงการแก้ปัญหา – พัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 กำชับทุกหน่วยงานจับมือแก้ไฟป่า – PM 2.5 สั่งเร่งสำรวจพื้นที่ภัยแล้งบูรณาการร่วมจังหวัด ลั่นบุคลากรต้องสแตนบายด์ให้บริการประชาชน 24 ชั่วโมง
เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 18 มี.ค. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดเชียงราย ก่อนจะเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในวันที่ 19 มี.ค.ที่จังหวัดพะเยา โดยวันนี้ได้เดินทางมายังศูนย์ฝึกอบรมที่ 4 เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา แพร่) มีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงฯ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัด ได้รายงานการปฏิบัติงานพร้อมเสนอปัญหาในพื้นที่เพื่อขอรับการแก้ไข
จากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวมอบนโยบายและข้อสั่งการว่า สำหรับโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมฯ ในการผลักดันการพัฒนาด่านการค้าชายแดน จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ขอให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่หนองเล็งทรายแบบอารยเกษตรสู่วิถียั่งยืน ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่ให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการใน 4 จังหวัด ที่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรน้ำและด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยมี 17 โครงการ อาทิ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม-หนองเขียว พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บ้านป่าสักหลวง ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (วิทยาเขตน่าน) อ.ภูเพียง จ.น่าน
โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากลำน้ำว้า สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยซ้อ และพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ คทช. หมู่ที่ 1 บ้านห้วยซ้อ อ.แม่จริม จ.น่าน โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำห้วยเคียน พร้อมระบบกระจายน้ำ อ.จุน จ.พะเยา โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณการท่องเที่ยวน้ำตกขุนแจอุทยานแห่งชาติขุนแจ จ.เชียงราย โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ในพื้นที่ป่านันทนาการน้ำตกตาดหมอก น้ำตกวังเขียวและน้ำตกนางกวัก จ.น่าน โครงการปลูกป่าปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำ จ.น่าน โครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและยกระดับการท่องเที่ยวน่านสู่ท่องเที่ยวคุณภาพสูง เป็นต้น
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือที่น่าห่วงใยคือเรื่อง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 จึงขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน โดยควบคุมกำกับดูแลการจัดการไฟในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวนฯ รวมถึงพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่สูง
ปัจจุบันปัญหาไฟป่าทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้สูญเสียสภาพป่าไม้และสัตว์ป่าจำนวนมาก รวมถึงสร้างมลพิษหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ จึงขอให้ทุกหน่วยงาน ร่วมกันเป็นหูเป็นตา ช่วยกันดูแลป้องกันไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ และป่าชุมชนของเรา รวมทั้งเฝ้าระวังการบุกรุกและตัดไม้มีค่า ให้มีการลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของกำลังพลเป็นสำคัญด้วย และให้กรมป่าไม้ สนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคประชาชน ในการบริหารจัดการป่าร่วมกับภาครัฐ โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างการเรียนรู้ความเข้าใจ ความเข้มแข็งในระดับพื้นที่
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า นอกจากนี้ขอให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร โดยมีการจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์การขุดเจาะ รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกน้ำเครื่องสูบน้ำ และบุคลากรพร้อมปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง สำหรับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดให้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือ พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมกับจังหวัด และขอให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษประสานหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลไม่ให้มีการทิ้งน้ำเสียลงแหล่งน้ำ รวมถึงบ่อขยะ เพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางน้ำและการเกิดไฟไหม้บ่อขยะ โดยต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน