วธ. เปิดสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” “บ้านโนนกอก” จังหวัดอุดรธานี ชูซอฟพาวเวอร์ของไทยสู่นานาชาติ ชวนสักการะพระธาตุโพนทอง พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองอุดรธานี เรียนรู้ตำนานทอผ้าขิดโบราณ เปิดประสบการณ์งานฝีมือย้อมสีธรรมชาติจากดอกบัวแดง พร้อมลิ้มรสข้าวต้มมัดธัญพืชกลีบบัวแดง 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ เศรษฐกิจเดิน สังคมดี ประเทศไทยโดดเด่น
วันที่ 9 มีนาคม 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนสู่ความยั่งยืน ของสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายอภิชาติ พลบัวไข ผู้นำชุมชนคุณธรรมฯ บ้านโนนกอก ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวชุมชนคุณธรรมฯ บ้านโนนกอก ณ ลานวัฒนธรรม ชุมชนยลวิถีบ้านโนนกอก ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในชุมชนบ้านโนนกอก แวะสักการะพระธาตุโพนทอง ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองอุดรธานี สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเยี่ยมชมวัดศิริสุขาภิบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อ พ.ศ. 2512 และเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้และศูนย์ทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จากนั้น เข้าสู่พิธีเปิดงานอย่างมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การปักดอกบัวแดงบนแท่นลายผ้าหมี่ขิด หนึ่งเดียวที่ไม่เหมือนใคร พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม มอบเกียรติบัตรให้กับผู้สนับสนุนกิจกรรม 18 หน่วยงาน/องค์กร/บุคคล รวมถึงร่วมเจิมสีผ้าผะเหวด และร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุต จากนั้นได้เปิดป้ายลานวัฒนธรรม สุดยอดชุมชนต้นแบบ บ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี อย่างเป็นทางการ สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวชุมชนเป็นอย่างมาก
นางยุพา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีพันธกิจสำคัญในการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ให้มีการรักษา สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตามนโยบายซอฟพาวเวอร์ ของรัฐบาล สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาต่อยอด สร้างงาน สร้างรายได้ ผ่านโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
ทั้งนี้โครงการได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 มีชุมชนคุณธรรมฯ ทั่วประเทศกว่า 27,000 ชุมชน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินโครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จากชุมชนใน 76 จังหวัด ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ที่ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนกอก ได้รับการคัดเลือก เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2566 ของกระทรวง ซึ่ง วธ. พร้อมจะผลักดันการประชาสัมพันธ์และมีแนวทางขับเคลื่อนให้ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นที่รู้จัก เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น
อาทิ การมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้นำชุมชนและผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับคัดเลือก สนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อโทรทัศน์ ประชาสัมพันธ์สุดยอดชุมชนต้นแบบฯ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เตรียมพร้อมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของเครือข่ายทางวัฒนธรรมและผู้นำชุมชนฯ ตลอดจนผลักดันการอบรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในสุดยอดชุมชนต้นแบบฯ สู่การเป็นสุดยอดนักเล่าเรื่อง “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ซึ่งผลงานของสุดยอดนักเล่าเรื่องฯ จะได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านโนนกอก มีผู้นำ “พลังบวร” และเครือข่าย ขับเคลื่อนที่เข้มแข็ง คนในชุมชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่น เป็นพื้นที่แห่งการทอผ้าโบราณที่ยังคงอนุรักษ์การทอแบบโบราณ ย้อมสีธรรมชาติจากดอกบัวแดง เป็นชุมชนที่ถวายงานเรื่องการทอผ้าโบราณที่มีเรื่องราว มีตำนาน ผสานกับนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สร้างให้เกิดมูลค่าและคุณค่าในทุกมิติ มีอาหาร ที่รสชาติอร่อยตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างงดงาม เหมาะสมกับที่ได้รับรางวัลมากมาย สมดังสโลแกนที่ชุมชนได้ร่วมกันกำหนดขึ้นว่า “เที่ยวโนนกอก ออนซอนอาหารท้องถิ่น สืบสานงานศิลป์ ผ้าพื้นถิ่นย้อมดอกบัวแดง”
ทั้งนี้ ชุมชนดังกล่าวพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยเส้นทางท่องเที่ยวในมิติศาสนาและวัฒนธรรมอีกมากมาย ได้แก่ ศูนย์ทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก วัดใหม่ไชยมงคล สวนตาลคู่ ป้องดินฟาร์มเห็ด พระธาตุโพนทอง วัดศิริสุขาภิบาล (วัดบ้านโก่ย) นาคำวิลล่า นอกจากนี้ ยังมีสถานที่พัก โรงแรม และรีสอร์ท พร้อมต้อนรับอำนวยความสะดวกอีกมากมาย ด้านมัคคุเทศน์ก็มีบริการให้ความรู้และนำชมในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆอีกด้วย
ด้านนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า บ้านโนนกอกเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าโบราณ ประยุกต์ลวดลายผ้าจากลายหมอนขิดอีสาน ขิดลายนาค ลายกนกประตูโบสถ์วัดบ้านหนองนาคำ ลายขอเล็บแมว และลายขอขิดเกียง นำสายบัวแดง ดอกบัวแดงและเกสรบัวแดง มาย้อมเส้นไหมที่ใช้ทอ ซึ่งดอกบัวแดงที่นำมาย้อม เกิดขึ้นในลำห้วยเชียงรวงที่ไหลผ่านในหมู่บ้านโนนกอก มาผสมผสานแนวคิดเทคนิคสร้างสรรค์ เกิดผืนผ้าขิดที่มีความประณีต และความงดงาม นำโดยนายอภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้านโนนกอก พัฒนาให้ปราชญ์ชาวบ้านได้นำภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมของคนในตำบลหนองนาคำ โดยการใช้กี่ทอผ้าโบราณ มาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน มีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชน ประชาชนที่สนใจมากกว่า 1,000 คนต่อเดือน
ด้านนายอภิชาติ พลบัวไข ผู้นำชุมชนคุณธรรมฯ บ้านโนนกอก กล่าวว่า “บ้านโนนกอก” เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2558 มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เกษตรกร มีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ที่อนุรักษ์การทอผ้าขิด ผ้าไหม ผ้าฝ้าย โดยตนได้เริ่มต้นพัฒนาให้ปราชญ์ชาวบ้านโนนกอก ได้นำภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมของคนในตำบลหนองนาคำ มาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและ ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก มีพิพิธภัณฑ์รวบรวมลายผ้าทอโบราณและหมอนขิดเก่าแก่ เช่น ลายขิดเกียง ซึ่งเป็นลายผ้าห่อคัมภีร์โบราณ รวมถึงผ้าทอโบราณอื่นๆ ที่หาดูได้ยาก มีการสาธิตภูมิปัญญาและการเรียนรู้การมัดย้อม/การย้อมผ้าจากดอกบัวแดง และสายบัวแดง
นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการห่อข้าวต้มมัดธัญพืชกลีบบัวแดง ซึ่งได้รับการคัดเลือก จากกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นอาหารประจำจังหวัดอุดรธานี ตามการดำเนินการจัดกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น”ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ คือ พระธาตุโพนทอง ซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของชาวขอมในสมัยนั้น ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญมีพระพุทธรูปที่โดดเด่นและสวยงามอยู่หลายองค์ เป็นที่เคารพของประชาชนทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง