บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์พืชและสัตว์ป่า ออกตรวจสอบเขตรอยต่อระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติกับพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ทำกิน มักจะพบปัญหาบุกรุกผืนป่าเสมอมา
ล่าสุดเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบหมุด ส.ป.ก.ปริศนาโผล่ในพื้นที่ไม่มีร่องรอยทำการเกษตรแต่อย่างใด จนกลายประเด็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการแจ้งความดำเนินคดีกันทั้งสองฝ่าย
แม้เสนาบดีทั้งสองกระทรวงจะบอกว่าเคลียร์จบแล้ว ดูเหมือนจะจบกันแค่สองคน แต่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องต่างไม่ยินยอม เพราะบางคนถูกตั้งกรรมการสอบสวน บางคนถูกท้าทายว่าอาจติดคุก
แต่ที่สำคัญสังคมต่างคาใจว่าบุคคลที่มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ถือแทน บิ๊กคนไหนกันแน่ เพราะราคาที่ดินบริเวณดังกล่าวราคาสูงถึงไร่ละ 30 ล้านบาท ชาวบ้านธรรมดาอย่างพวกเราไม่มีโอกาสแน่นอน
นี่เพียงแค่ความขัดแย้งตัวอย่างเดียว ทำให้เห็นว่าผืนป่าแต่ละผืนล้วนมีมูลค่าให้พวกโกงบ้านโกงเมืองต่างจับจ้องกันปากมัน การจ้องหาผลประโยชน์มิได้มีเพียงแค่การบุกรุกยึดครองเท่านั้น การป้องกันและฟื้นฟูสภาพป่าก็แฝงไปด้วยการหาผลประโยชน์เช่นกัน โดยผลักดันผ่านโครงการต่างๆด้วยงบประมาณมหาศาล
ขอตัวอย่างโครงการการจัดทำแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2552 ของหน่วยงานหลักในกระทรวงทรัพยากรฯ ได้แก่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ของสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรฯด้วย โดยจ้างปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการวงเงินทั้งสิ้น 2,254 ล้านบาทเริ่มสัญญาตั้งแต่กันยายน 2552-กุมภาพันธ์ 2555 แต่ไม่ทันที่สัญญาจะสิ้นสุดเกิดกลิ่นทุจริตโชยไปทั่วกระทรวงทรัพยกรฯ มีการร้องไปถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ให้ตรวจสอบ
ผลการสอบ สตง.ส่งถึงปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ วันที่ 28 ธันวาคม 2554 สรุปได้ว่ากิจกรรมทำแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ตามโครงการเร่งด่วน มีความเสี่ยงบางประการทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ประโยชน์และไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ อาทิการสอบทานแนวเขตที่ดิน การจัดทำตำแหน่งอาคารสิ่งปลูกสร้างจัดทำระบบสืบค้นข้อมูล รวมเงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 910 ล้านบาท หรืองบประมาณบางส่วนสูญเปล่า เช่น กรณีดำเนินโครงการในอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จและยุติโครงการไปแล้ว อาทิโครงการจัดทำแนวเขตและเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองพื้นที่ป่า รวมเป็นเงิน 629 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ สตง.สรุปผลการสอบสวนที่ส่อไปในทางทุจริตถึง 11 ประเด็น อาทิ การสอบแนวเขตบนแผนที่ โดยไม่ไม่มีการลงสำรวจข้อมูลในพื้นที่ป่าไม้ ในขณะที่ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมสอบทานอาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจการพิจารณาแนวเขตบนแผนที่หรือไม่สามารถชี้แนวเขตได้อย่างถูกต้องตามข้อเท็จจริงทั้งหมด ส่งผลไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงหรือการจัดทำหมุดหลักฐานภาคพื้นดิน วงเงินงบประมาณการจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการทั้งสิ้นกว่า 26 ล้านบาท มีข้อกำหนดบางรายการไม่ตรงกับมาตรฐานการรางวัดภาคพื้นที่ดิน หรือการตรวจรับหมุดหลักฐานซึ่งมีที่ปรึกษาอิสระเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จากหลักฐานปรากฏว่าไม่มีการตรวจสอบหมุดหลักฐานในพื้นที่การดำเนินงานแต่อย่างใด เป็นต้น
ท้ายหนังสือทาง สตง.แนะนำว่าเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบโดยตรง ขอเสนอแนะให้ทบทวนแผนงานหรือแนวทางปฏิบัติก่นที่จะสิ้นสุดสัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2555
ให้ทบทวนกระบวนการ,รูปแบบวิธีการสอบทานแนวเขตในพื้นที่ป่า เพื่อให้มั่นใจว่าผลการสอบทานจะได้รับการยอมรับทุหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ซักซ้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันปรับปรุงแก้ไขโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จให้บรรลุเป้าหมาย ที่ยกมาเป็นรายละเอียดเพียงบางส่วนที่ สตง.ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องในการใช้งบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท เป็นการตรวจพบทั้งที่ยังไม่ครบสัญญาการจ้างแต่อย่างใด
โครงการนี้บรรดาข้าราชการกระทรวงทรัพย์ฯต่างทราบกันดีว่ามีเงินทอนเข้ากระเป๋าใครบ้าง เพราะผลการดำเนินโครงการไม่คุ้มค่ากับงบประมาณถึงขั้นนินทาว่า ผู้เกี่ยวข้องบางคนได้ผลประโยชน์สูงยิ่งกว่าวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง คงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมผลสอบของสตง.ถึงถูกดองยาวมาจนถึงยุค นายวราวุธ ศิลปอาชา และกำลังถูกดองต่อในยุคของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
ดังนั้นเพื่อลดข้อครหาว่าผลสอบการทุจริตในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มักจะถูกดองเค็มเสมอมา เพราะต่างอยู่กันแบบไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ นั้น พล.ต.อ.พัชรวาท ต้องสั่งให้รื้อผลสอบสวนมาทบทวน เพื่อดูเส้นทางเงินกว่า 2 พันล้านบาทไหลเข้ากระเป๋าใครบ้างแล้ว จัดการให้เด็ดขาด นอกจากช่วยกวาดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ใสสะอาดแล้วยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นรัฐมนตรีมือสะอาดอีกด้วย !!!