“เศรษฐา” คิวแน่นเอี้ยด ถกนายกฯ จิงโจ้-มาเลย์-ลาว ก่อนบินข้ามทวีปจับเข่าปธน.เยอรมัน-ฝรั่งเศส

275

วันที่ 5 มี.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเดินทางไปยังกรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ (2024 ASEAN-Australia Special Summit) ระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค. ได้พบปะหารือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ แบบทวิภาคี อาทิ นายแอนโทนี แอลบาเนซี ผู้นำออสเตรเลีย ประเด็นความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน มุ่งผลักดันการค้าการลงทุน นายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรื่องความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โครงการด้านความเชื่อมโยงชายแดนไทย – มาเลเซีย และสถานการณ์ใน จ.ชายแดนภาคใต้ พร้อมสร้างสันติสุขร่วมกัน นายสอนไซ สีพันดอน นายกฯ สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การเดินทางระหว่างกัน การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น

 
ในส่วนทวิภาคกับออสเตรเลียนั้น สองฝ่ายเห็นพ้องให้ปรับปรุงความตกลงฯ การค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยสนใจจะส่งเสริมการลงทุนและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากออสเตรเลียในด้านเกษตรกรรม พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ขณะที่ขอเวลาในการปรับตัวเกี่ยวกับมาตรฐานใหม่ของการผลิตรถยนต์ในฐานะที่ไทยส่งออกรถไปออสเตรเลียปีละกว่า 200,000 คัน, ในด้านการท่องเที่ยวมีการเสนอแนะให้เพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนด้านการศึกษา ไทยสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาออสเตรเลียมาเปิดสาขาที่ไทยมากขึ้น

ด้านความมั่นคงและด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหาร และ พัฒนาบุคลากรทางการทหารระหว่างกัน รวมทั้งยินดีกับความร่วมมือภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking (ASEAN-ACT) และการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ทั้ง 23 ฝ่ายพร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกัน ทั้งกลุ่ม digital nomads จากออสเตรเลียมาไทย และแรงงานจากไทยไปออสเตรเลียที่ขาดแคลน ทั้งนี้นายเศรษฐาได้กล่าวเชิญนายกฯ ออสเตรเลีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ด้วย

ขณะที่การหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียนั้น นายเศรษฐาได้เสนอ แนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศซึ่งมาเลเซียก็ยินดี และสองฝ่ายพร้อมอำนวยความสะดวกด้านการผ่านแดนระหว่างกัน ขณะที่มาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนด้าน food security และอาหารฮาลาลของไทยด้วย

นายเศรษฐาได้หารือเกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อความสงบสุข โดยได้พูดถึงประสบการณ์การไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญควบคู่ขนานไปกับด้านความมั่นคง ซึ่งนายอันวาร์ก็เห็นด้วยว่า เมื่อเศรษฐกิจดี จะเกิดความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันนายกฯ มาเลเซียได้หยิบยกประเด็นเรื่องยางพาราขึ้นมา และนายเศรษฐาได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ให้ไปพิจารณาสนับสนุนการขายยางพาราให้แก่มาเลเซีย

สำหับการพูดคุยกับผู้นำลาวนั้น นายกฯ ผลักดันแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนแคมเปญ “ปีแห่งการท่องเที่ยวลาว และขอให้ฝ่ายลาวเร่งรัดการกำหนดที่ตั้งของ Common Control Area (CCA) ในฝั่งลาว เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยฝ่ายไทยเห็นควรว่าให้ตั้งที่บริเวณมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) เป็นที่แรก ขณะเดียวกันไทยยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการซ่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) และพร้อมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ของสะพานในปีนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศอีกด้วย

นายเศรษฐาได้กล่าวยินดีที่ไทยและ สปป. ลาว ได้เริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนแล้ว ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่หน่วยงานของฝ่ายลาว โดยทางฝ่ายไทยพร้อมสนับสนุนฝ่ายลาวเพิ่มเติม สำหรับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด และการฉ้อโกงออนไลน์ ทั้งนี้นายเศรษฐาได้เชิญนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการด้วย

นอกจากนี้นายเศรษฐายังได้พบปะกับนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ รวมไปถึงภาคเอกชน อาทิ ผู้บริหารบริษัท Linfox ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อัจฉริยะของออสเตรเลีย โดยบริษัทสนใจลงทุนด้าน Cold Storage Facility ในไทยตามนโยบาย Aviation Hub ด้วย, ผู้บริหาร Fortescue บริษัทรายใหญ่ด้านการถลุงแร่ และการขนส่งโลจิสติ ที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอร์รี่ไฮโดรเจนและไฮโดรเจนสีเขียวในไทย

หลังจากที่เสร็จสิ้นการประชุมใน วันพุธที่ 6 นายเศรษฐาเปิดเผยว่า จะเดินทางต่อไปยังกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุม ITB Berlin 2024 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ช่วงบ่ายอาจจะมีการพูดคุยกับทางบริษัท Volkswagen เกี่ยวกับเรื่องของโรงงาน โดยเขาอาจจะมาตั้งโรงงานที่ประเทศไทย นอกจากนั้น จะเดินทางต่อไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการพบปะกับนักธุรกิจที่ฝรั่งเศส เช่น ดูเรื่องนิวเคลียร์ บริษัทแฟชั่นต่าง ๆ อีกทั้งจะพูดคุยเกี่ยวกับการนำรถ Formula one มาที่ประเทศไทยด้วย

นายกฯ กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม จะพบกับเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส  เพื่อพูดคุยระดับทวิภาคี จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อไปดูงาน The MIPIM Awards เป็นเวทีประกวดระดับโลกด้านอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ที่จะมีการนำเมืองต่าง ๆ มาโชว์ Infrastructure โครงการ Megaproject เพราะว่าในปีหน้าประเทศไทยจะไปแสดงเรื่องของสนามบิน รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เรากำลังดำเนินการอยู่เพื่อเชิญชวนนักลงทุนหรือประกาศให้ประเทศต่าง ๆ ทราบว่าเราดำเนินการอะไรไปบ้าง นอกจากนั้น จะเดินทางกลับไปที่เยอรมนีอีกครั้ง เพื่อพูดคุยระดับทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันพฤหัสบีดีที่ 14 มีนาคม โดยช่วงเย็น จะมีการประชุมสำคัญกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาด้วย

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #เศรษฐาทวีสิน #ประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียสมัยพิเศษ2024 #ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย #TAFTA