ป.ป.ส. ผนึกพลังเครือข่ายวิชาการ เร่งส่งเสริมงานวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนลดความต้องการใช้ยาเสพติด

513

วันที่ 5 มีนาคม 2567 นายธนากร คัยนันท์ ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นประธาน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อสนับสนุนงานด้านลดอุปสงค์ยาเสพติด ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายนิติเวช และเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ส. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส. กรุงเทพฯ และผู้เข้าร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์จากการถ่ายทอดสดเพจเฟสบุ๊ก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กว่า 800 คน


นายธนากร กล่าวว่า “ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผนึกพลังกันดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของสารเสพติดของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีผลงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนด ทิศทาง ประกอบการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และมาตรการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ตระหนัก เห็นความสำคัญ และสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้องค์กร ชมรม เครือข่ายภาคประชาชน พัฒนาวิชาการ องค์ความรู้ด้านยาเสพติด ตลอดจนเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด โดยให้การสนับสนุนกับสถาบันวิชาการ องค์กร เครือข่ายวิชาการที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการด้านวิชาการตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมทั้งจัดประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของภาคีเครือข่าย และขยายความร่วมมือสู่นักวิจัยรุ่นใหม่ในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น”


การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อสร้างการรับรู้ ให้แก่ภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย วิชาการ มาปรับใช้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไปซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 7 ท่าน มาร่วมอภิปรายผลงานวิจัยที่เป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน ดังนี้

1) การตลาดและการขายยาเสพติดบนโลกอินเตอร์เน็ต
โดยนางสาวกนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2) การศึกษาระยะยาวติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดสารเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน และโมเดลพยากรณ์อาการทางจิตในการใช้สารเสพติดโดยใช้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยง โดย รศ.ดร.มานพ คณะโต ผู้อำนวยการเครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น



3) การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดสารเสพติดจากงานนิติเวชศาสตร์
โดย รศ.นพ.วิศาล วรสุวรรณรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร. ภัทรินี ไตรสถิตย์และ ดร.พิมพ์วรัชญ์ ศรีคำมูลคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4) สถานการณ์ยาเสพติดสังเคราะห์ โดย ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ

5) การศึกษาปัจจัยสังคมกำหนดพฤติกรรมใช้สารเสพติดในกลุ่มแรงงานนอกระบบในเขตเมือง และการพัฒนาเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตของผู้เสพยาเสพติดเพื่อติดตามผลกระทบเชิงนโยบายผ่านปัจจัยสังคมกำหนดการใช้ยาเสพติด โดย ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



และในช่วงท้าย มีเวทีให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัย พร้อมนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการทำงานจริงให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ปปส