“กฏหมายว่าด้วยการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไม่เคยมีจริง”เก้าอี้ ผบ.ตร.วาระ 1ตุลาฯ 67 รอง ผบ.ตร.- จตช.มีสิทธิ์ชิงดำอำนาจภายนอกปัจจัยสำคัญกว่า พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 2565    

7356

ช่วงที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)เปิดศึกวิวาทะกับ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(รองผบช.ก.) จน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.ออกมาหย่าศึกพร้อมออกคำสั่งให้ตำรวจทุกนายรูดซิปปาก เพื่อสงบคลื่นลม


      ปรากฏว่ามีสื่อหลายสำนักวิเคราะห์ถึงศึกวิวาทะพร้อมผูกโยงไปถึงการชิงดำเก้าอี้ ผบ.ตร.วาระ 1 ตุลาคม 2567 บางสำนักวิเคราะห์ว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีโอกาสที่จะผงาด เพราะอาวุโสอันดับ 1


      หากมองถึงบัญชีอาวุโส รอง ผบ.ตร.จะพบว่า พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ อาวุโสอันดับ 1 แต่จะเกษียณอายุและกำลังไปนั่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) จะทำให้ รอง ผบ.ตร.ขยับลำดับอาวุโสขึ้นมา ประกอบด้วย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อาวุโส 2 ขยับเป็นอันดับ 1 ตามด้วย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ อาวุโสอันดับ 2 พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวงทรง จเรตำรวจแห่งชาติ อาวุโสอันดับ 3  พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ อาวุโสอันดับ 4 และ พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช อาวุโสอันดับ 5


     ถ้ายึดหลักการตามกฎหมายตำรวจแห่งชาติ 2565 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะขยับเป็นผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ แต่ที่ผ่านมากฎหมายตำรวจมีไว้บังคับใช้กับตำรวจที่ไร้เส้น ไร้เงิน เท่านั้น


    แม้แต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ที่มีบทบาทสำคัญในการลงมติเลือก ผบ.ตร. เป็นได้แค่ตรายางเพื่อประทับให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น


    ดังนั้นการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ที่จะมีขึ้นช่วงสิงหาคมหรือกันยายน รองผบ.ตร.และ จตช.ล้วนแต่มีสิทธิ์ชิงดำทุกขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปกาศิตของผู้กุมอำนาจที่อยู่นอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเลือก พล.ต.อ.คนไหน นั่งบัลลังก์เจ้าสำนักปทุมวัน เพราะในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นหลายกรณี อาทิ ยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หลัง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. มีการเสนอชื่อ รอง ผบ.ตร.ให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)ลงมติเลือก ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อาวุโสอันดับ 1 แต่ ก.ต.ช.ลงมติไม่เห็นด้วย


   นายอภิสิทธิ์ จึงต้องถอยกลับ ระหว่างนั้นมีการเคลื่อนไหวให้ เสนอชื่อ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร. พอประชุม ก.ต.ช.รอบที่ 2 นายอภิสิทธิ์ ยืนยันเสนอชื่อพล.ต.อ.ปทีป คนเดิม ก.ต.ช.ลงมติไม่รับ นายอภิสิทธิ์ จึงตั้งพล.ต.อ.ปทีป รักษาการผบ.ตร.จนเกษียณอายุ


  จากนั้น ก.ต.ช.ลงมติเลือก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นผบ.ตร.ได้เพียง 1 ปี  อำนาจเปลี่ยนมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เจรจาให้ พล.ต.อ.วิเชียร ย้ายไปเป็นเลขาธิการ สมช. แทนนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ถูกย้ายเก็บกรุ เพื่อหลีกทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ รองผบ.ตร.พี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ขยับเป็น ผบ.ตร.พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ เกษียณอายุ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ขยับขึ้นแทน  ต่อมา พล.ต.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ โยก พล.ต.อ.อดุลย์ ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เลือก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันุ์ม่วง อาวุโสอันดับ 3 เป็น ผบ.ตร. แต่ไม่เลือกพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อาวุโสอันดับ 1 พอ พล.ต.อ.สมยศ เกษียณ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เลือก พล.ต.อ.เอก แต่กลับเลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อาวุโสอันดับ 5 เป็นผบ.ตร.ยาว 5 ปี ระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.เอก ไปดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อปลอบใจ


    พล.ต.อ.จักรทิพย์ เกษียณ พล.อ.ประยุทธ์ เลือก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่อาวุโสน้อยกว่า พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก   เมื่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ เกษียณ พล.อ.ประยุทธ์ เลือก พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ อาวุโสอันดับ 1


   พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ เกษียณ ผบ.ตร.ควรจะเป็นของ พล.ต.อ.รอย อาวุโสอันดับ 1 และกฏหมายตำรวจแห่งชาติ 2565 กำหนดคุณสมบัติไว้ชัดเจน แต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กลับเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อาวุโสอันดับ 4 ให้ ก.ตร.ประทับตราผ่านเป็นผบ.ตร.
 
ที่ยกตัวอย่างมาเพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่าตำแหน่ง ผบ.ตร.ไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายในหรืออยู่ในอำนาจของ ก.ตร.แต่อย่างใด ที่การแต่งตั้ง ผบ.ตร.แต่ละครั้งล้วนมีการเดินเกม เคลื่อนไหวเพื่อชิงเก้าอี้กันแบบน่าสะพรึง
 
ดังนั้นการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่แทนพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ รอง ผบ.ตร.และจตช.ต่างมีโอกาสชิงดำทุกคนและอาจจะมีผู้ร่วมชิงตำแหน่งเพิ่มอีก 1 คนคือ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่จะขยับแทน พล.ต.อ.รอย โยกไปเป็นเลขา สมช.


      “ประดู่แดง”หยิบประเด็นนี้มาเขียนถึงเพื่อสื่อว่าการแต่งตั้ง ผบ.ตร.แต่ละครั้งนั้นกฎกติกามิได้มีความหมายแต่อย่างใด ผู้ที่ได้รับเลือกล้วนแต่ขึ้นอยู่กับผู้กุมอำนาจจากภายนอกแทบทั้งสิ้น

อยากเรียกร้อง ให้ประธาน ก.ตร. และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจทุกนาย หันกลับมามองเจตนาของกฏหมายว่าด้วยการแต่งตั้ง ด้วยจิตสำนีกในระบบคุณธรรม อย่าแถหาช่องกฏหมายแล้วเป็นตรายางตามใบสั่งให้ผู้มีอำนาจ นอกเหนือ จากที่ พ.ร.บ. ตำรวจปี 2565 กำหนดใว้ แล้วตัวท่านจะมีเกียรติครองใจข้าราชการตำรวจทั้งประเทศ ถ้าใจขาดคุณธรรม ไร้จิตสำนึกที่ดีต่อองค์กร ก็ลาออกไปซะ เชื่อว่ายังมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ที่มีคุณธรรม อีกหลายท่านมีเขารักองค์กรตำรวจมากกว่าพวกท่าน

         ดังนั้น ต้องรอดูใจว่า ก.ตร.ทุกนายจะยึดหลักเกณฑ์ หรือไม่ .?  บรรดา รอง ผบ.ตร.ทุกคนรวมทั้ง จตช.ก็ต้องทำใจกับก.ตร.ที่ไร้เกียรติ  ซึ่งเอาเป็นว่าในที่สุดต่างมีสิทธิ์ลุ้นทุกคน เพียงแต่ใครจะมีบุญ วาสนา บารมี ใครมีโอกาสจังหวะเวลา สถานะปัจจัยทางการเมือง ณ ขณะนั้น สามารถเข้าถึงผู้กุมอำนาจมากกว่ากันเท่านั้น !!!