หมุด ส.ป.ก.ปริศนาโผล่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ พร้อมทีมงานตรวจสอบเจอ ส่อจะบานปลายกลายเป็นประเด็นที่สังคมคาใจ
จน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกิดอาการหวั่นไหว จึงนัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาหารืออีกรอบหลังเจ้ากระทรวงทั้งสองหารือกันมาแล้วหนึ่งรอบ
โดย กระทรวงเกษตรฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เจ้ากระทรวงเดินทางมาพร้อมกับ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ขณะที่ กระทรวงทรัพย์ฯ ส่งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดงกระทรวงฯและนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ รวมถึง พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร ร่วมหารือ
ผลการหารือมีการมอบให้กรมแผนที่ทหารจัดทำแนวเขตของรัฐเพื่อตรวจสอบและป้องกัน ส่วนพื้นที่พิพาทให้ ส.ป.ก.ยกเลิกเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดทุกแปลง
ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม บอกว่า เตรียมออกแนวทางการปฏิบัติห้ามและหลีกเลี่ยงไม่ให้จัดสรรที่ดินที่มีแนวเขตกันชนระหว่างพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อุทยานฯให้เกษตรกรทำกินอย่างเด็ดขาด หากพิสูจน์ชัดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.จะยึดคืน ส.ป.ก.ที่ออกไปแล้วจะทำเป็นพื้นที่กันชนและไม่ให้เกษตรกรเข้าไปทำกันอย่างเด็ดขาด
หากมองย้อนไปปัญหาพิพาทเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในช่วงที่คณะรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(คสช.)ยึดอำนาจใหม่ๆ มีนโยบายทวงคืนผืนป่าด้วยการใช้อำนาจยึดพื้นที่คืนจากชาวบ้านที่บุกรุก บางพื้นที่ชาวบ้านถึงขั้นประท้วงแต่ไม่เป็นผล เพราะ คสช.ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ
ห้วงเวลานั้นสังคมต่างคาดหวังว่าจะได้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์คืน แต่พอเวลาทอดยาวออกมาดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ไร้ผล สร้างภาพมากกว่าสร้างผลงาน เพราะการบุกรุกป่ายังคงลุกลามเหมือนเดิม แต่ออกมาในรูปของการประกาศเป็นพื้นที่ส.ป.ก.
หลักฐานที่บ่งชี้ได้น่าจะเป็นข้อมูลที่ นายชัยวัฒน์ ออกมาแฉเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ หลังพบหมุดปริศนาว่า”ทำหนังสือไลน์ถึงลูกน้องให้สำรวจอุทยานฯทั้งหมด 43 แห่ง มีพื้นที่ส.ป.ก.เข้าไปทับที่อุทยานฯกว่า 1.56 แสนไร่ ไม่ใช่กว่า 3,000 ไร่ที่เห็นกันตรงนี้ มันอุบ มันแอบทำกันโดยที่เราไม่รู้ ทำอย่างนี้เรารักษาป่าไปไม่มีประโยชน์” จากข้อมูลดังกล่าวพออนุมานได้ว่าพื้นที่ป่าที่ภาครัฐพร่ำบอกว่าจะต้องอนุรักษ์ไว้เพื่อรักษาสมดุลชองธรรมชาติ ลดโลกร้อน แค่ภาพลวงหน้าเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อให้มีผืนป่าในพื้นที่อุทยานเพิ่มขึ้น ต้องเป็นภาระหนักของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องประกาศนโยบายให้ชัดเจนว่าผืนป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุกตารางนิ้วที่ถูกบุกรุกต้องตามยึดคืนแล้วดำเนินคดีผู้บุกรุกและผู้ที่ชักใยเพื่อหาผลประโยชน์ อย่างเฉียบขาด
ที่สำคัญต้องแสดงจุดยืนที่มั่นคงว่าพร้อมเป็นกำแพงที่แข็งแกร่งให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติและเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ที่เดินหน้ายึดผืนป่าคืนพิงอย่างมั่นคง เพราะในส่วนของ ส.ป.ก. ทาง ร.อ.ธรรมนัส ประกาศชัดเจนแล้วว่าพื้นที่ที่ส.ป.ก.ประกาศทับพื้นที่อุทยานฯทั้งหมดต้องส่งคืนแล้วให้ทำเป็นพื้นที่กันชน
หากเจ้ากระทรวงทั้งสองมีความมุ่งมั่นจะเพิ่มผืนป่าเชื่อว่าพื้นที่กว่า 1.56 แสนล้านไร่ ที่นายชัยวัฒน์ปูดออกมาจะกลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์แน่นอน
แต่ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาทและร.อ.ธรรมนัส ต้องลงมากำกับและคอยตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพราะผืนป่าในเขตอุทยานฯที่อยู่ใกล้เมืองใหญ่ๆล้วนเป็นทำเลทองที่บรรดานายทุน บิ๊กข้าราชการ บิ๊กการเมือง และผู้มีอิทธิพลในวงการต่างๆ ล้วนจ้องกันปากมันหวังอุบไว้เป็นของตัวเอง
เพราะแม้แต่ คสช.ที่จัดว่ามีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ยังล่มไม่เป็นท่า หรือมูลนิธิรักษาป่าบางแห่ง ที่บรรดาบิ๊กๆเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งมาหลายปียังไม่มีน้ำยาพอ จากผืนป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าใน 2 จังหวัด มีพื้นที่กว่า 5 ล้านไร่ ถูกบุกรุกเหลือแค่ 6 แสนไร่เท่านั้น
ดังนั้นคงต้องลุ้นกันว่า”พล.ต.อ.พัชรวาท”จะเป็นกำแพงที่แข็งแกร่งพอที่จะให้เจ้าพิทักษ์ป่าพิงเพื่อเดินหน้ายืดผืนป่าคืนได้หรือไม่ ?!!