ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ยาวถึงตรุษจีน มีโอกาสท่องเที่ยวพบปะเสวนาพรรคพวกบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่บ่นกันอุบว่ารายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง อยู่กันแบบเขียมๆ
ยิ่งบรรดามนุษย์เงินเดือน ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ เป็นคนระดับกลางถึงรากหญ้า ยังไม่ถึงปลายเดือนกระเป๋าแฟบไปตามๆกันแล้ว
จำได้ว่าช่วงที่ได้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ชาวบ้านต่างวาดหวังว่าความเป็นอยู่จะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง พอเวลาล่วงเลยมากว่า 6 เดือน ดูเหมือนว่ารัฐบาลทำได้แค่ขี่ม้าเลียบค่าย ไม่กล้าพอที่จะผลักดันนโยบายอะไรที่ทำให้ชาวบ้านได้มีความหวังบ้าง
ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าช่วงนี้จะลดค่าครองชีพไปก่อน ช่วยตรึงค่าน้ำ ค่าไฟและราคาน้ำมัน
ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โชว์ความกล้าประกาศลดราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ทันที 2 บาท แต่ช่วงมกราคมเดือนเดียวราคาน้ำมันขยับ 6 ครั้ง 2.30 บาท พอย่างเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 13 วัน ขยับขึ้นอีก .40 บาท
ช่วงปีใหม่นายพีระพันธุ์ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าจะ“รื้อ ลด ปลด สร้าง”โครงสร้างราคราพลังงาน ผ่านปีใหม่มาเดือนกว่าๆ ราคาสินค้าทุกชนิดพาเหรดกันขึ้นราคารัฐบาลทำได้แค่มองตาปริบๆ ขณะที่ราคาน้ำมันขยับขึ้นแบบไม่เกรงใจรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน นโยบาย”รื้อ ลด ปลด สร้าง”เงียบยิ่งกว่าเป่าสาก
ขณะที่นโยบายแจกเงินติจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม้เด็ดของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถูกองค์กรอิสระอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ติงสุดตัวบอกว่าเศรษฐกิจยังพอไปได้ ครั้นรัฐบาลบอกให้ช่วยลดดอกเบี้ย ผู้บริหารธปท.บางคนบอกว่าเกรงชาวบ้านจะแห่กันกู้ทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น จึงไม่แน่ใจว่าผู้บริหาร ธปท.ได้รับรู้สภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงแค่ไหน
เพราะคราวที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 2.5 ต่อปี ชาวบ้านที่ผ่อนบ้านหรือผ่อนรถ ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เงินที่ผ่อนกลายเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด
พอเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยกลัวชาวบ้านจะแห่กู้ ไม่แน่ใจว่าใช้สมองส่วนไหนคิด อาจจะเป็นเพราะบรรดาเจ้าหน้าที่ธปท.มีเงินเดือนสูง สวัสดิการดีมาก จึงไม่รู้สึกเดือดร้อน เลยมองชาวบ้านในแง่ลบ
อยากให้มองในมุมกลับถ้าลดดอกเบี้ยลง ชาวบ้านที่กำลังผ่อนบ้านหรือทรัพย์สินอื่นๆจะมีกำลังใจผ่อนเพราะเห็นเงินต้นลดลง บางครอบครัวอาจจะปรับโครงสร้างหนี้ผ่อนเงินต้นลดลง จะมีเงินเหลือพอที่จะใช้จ่าย จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบได้มากขึ้น
แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนผู้บริหารธปท.มุ่งเอาใจบรรดาธนาคารต่างๆมากกว่า เพราะแต่แห่งกำไรหลายหมื่นล้าน ถ้าลดดอกเบี้ยลงธนาคารแต่ละแห่งเหลือกำไรสักหมื่นล้านน่าจะพออยู่ได้
ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ติงสุดตัวเช่นกัน โดยบอกว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤต พร้อมชี้ 8 ข้อเสีย หากรัฐบาลแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อาทิเสี่ยงทุจริต เสี่ยงผิดกฎหมาย และแนะให้ช่วยเหลือแค่คนจนและกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า ตัวเลขเศรษฐกิจหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน การบริโภคชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด
“สถานการณ์ของประเทศเปรียบเสมือนปลาในบ่อ ประชาชนคือปลา น้ำในบ่อน้อย ประชาชนก็ดิ้นอยู่ไม่ได้เพราะไม่ได้น้ำเพียงพอ สิ่งสำคัญคือการเติมน้ำลงในบ่อให้เพียงพอกับจำนวนปลาและขนาดบ่อซึ่งต้องการเม็ดเงินใหม่นั่นคือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต”นายจุลพันธ์ ระบุ
เมื่อรัฐบาลมั่นใจว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ควรเดินเต็มสูบได้แล้ว ข้อท้วงติงจากองค์กรอิสระรับฟังแล้วนำไปปรับปรุงอุดช่องว่างให้สนิท
ที่องค์กรอิสระท้วงติง อาจมองได้ 2 ประเด็น คือประเด็นแรก หวังดีช่วยให้รัฐบาลระมัดระวังมากขึ้น ประเด็นที่สอง เกรงว่าทำสำเร็จเศรษฐกิจขยับ รัฐบาลและคนชักใยจะเหลิงอำนาจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรอิสระยุคนี้เสมือนตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์นิยม จึงต้องผูกบ่วงไว้เผื่อเป็นเงื่อนไขที่จะปลุกม็อบขับไล่ แบบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นได้
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมั่นใจว่านโยบายนี้สำเร็จกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้น เพิ่มเงินในกระเป๋าชาวบ้านที่แฟบอยู่ให้ฟู เดินหน้าทำตามแผนที่วางไว้ อย่ามัวแต่ขี้ม้าเลียบค่ายอยู่เลย
เพราะกว่านโยบายนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ยังมีอุปสรรคที่จะต้องฝ่าอีกเยอะ ทั้งต้องผ่านสภาผู้แทนราษฏร และวุฒิสภา ระหว่างทางจะมีบรรดานักร้องทั้งหลายไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความ ซึ่งมีโอกาสจะล่มแบบรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาทที่ให้ไปทำถนนลูกรังให้หมดก่อนก็เป็นได้
ถ้าทำเร็วแล้วล่มเร็วรัฐบาลจะรอดตัวไม่ถูกโจมตีว่าขายฝัน คะแนนนิยมที่กำลังดำดิ่ง อาจจะเฟื่องฟูขึ้นมาแบบไม่ต้องลงแรงเยอะก็ได้ !!!