วันที่ 7 ก.พ.67 ที่ ตร. พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษกตร.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีนายเทตซูโอ โคบาชิกาวา ผู้เสียหายชายชาวญี่ปุ่น สัญชาติเปรู อายุ 35 ปี ถูกแก๊งยากูซ่าชาวญี่ปุ่น 5 คน รุมทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส จมูกหัก ตาแตก บาดแผลฟกช้ำทั่วตัว แพทย์ให้พักรักษาตัวเกินกว่า 2 เดือน ผู้เสียหายหมดเงินค่ารักษาตัวไปหลายแสนบาท ว่าทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ได้มีการกล่าวถึงว่ามีการเข้าไปทานอาหารและพูดคุยเรื่องธุรกิจกัน แต่ยังไม่พบว่าเป็นธุรกิจสีเทา ซึ่งหากได้ข้อมูลหรือมีหลักฐานว่ามีการดำเนินธุรกิจสีเทาก็จะมีการดำเนินการสืบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ส่วนคดีทำร้ายร่างกายพนักงานสอบสวน สน.คลองตัน ได้ดำเนินการสรุปสำนวนให้อัยการแล้วเรื่องการทำร้ายร่างกายแก่กายจนบาดเจ็ลบสาหัส แต่พบว่าผู้เสียหายยังใช้ชีวิตได้อย่างปกติ จึงมีการพิจารณาประกอบความเห็นของแพทย์ ส่งฟ้องไปในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายธรรมดาและอัยการก็มีความเห็นตรงกันกับพนักงานสอบสวน ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล พร้อมยืนยันว่าในตอนแรกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส แต่เมื่อดูจากอาการบาดเจ็บของผู้เสียหายที่ยังใช้ชีวิตได้ปกติประกอบความเห็นแพทย์แล้วจึงสั่งไม่ฟ้องข้อหาดังกล่าว แต่ได้สรุปสำนวนและส่องฟ้องข้อหาร่วมกันทำร้ายบาดเจ็บธรรมดา ส่วนที่ผู้เสียหายอ้างว่าบาดเจ็บสาหัสและรักษานาน 2 เดือนนั้น ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งการรักษา ความเห็นแพทย์ และการใช้ชีวิตได้ตามปกติ ประกอบกับความเห็นของพนักงานอัยการด้วยว่าเห็นสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร ยืนยันตำรวจทำตามขั้นตอนตามหลักของกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม
โฆษก ตร.กล่าวด้วยว่า ในส่วนของมาตรการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะ ชาวญี่ปุ่น และการเข้ามาของแก๊งยากูซ่าหรือมาเฟียนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.เน้นย้ำมาตลอดและมีการตรวจสอบกับตำรวจสากลตลอดจนตำรวจหรือทูตประเทศต่างๆเป็นประจำ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทางเข้ามาเพราะมีระบบคัดกรองเฝ้าระวังป้องกันอย่างเฉียบขาดอยู่แล้ว เช่น การขึ้นแบล็คลิส ห้ามเข้า-ออกประเทศ เป็นต้น
ในวันเดียวกันนี้ นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พานายเทตซูโอ โคบาชิกาวา ผู้เสียหายชายชาวญี่ปุ่น สัญชาติเปรู อายุ 35 ปีที่ถูกแก๊งยากูซ่าชาวญี่ปุ่น 5 คนรุมทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส จมูกหัก ตาแตก บาดแผลฟกช้ำทั่วตัว แพทย์ให้พักรักษาตัวเกินกว่า 2 เดือน ผู้เสียหายหมดเงินค่ารักษาตัวไปหลายแสนบาท เข้าพบ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เพื่อขอความช่วยเหลือ
นายเอกภพบอกว่า ผู้เสียหายเป็นชาวญี่ปุ่นที่ไปอยู่ประเทศเปรู จนได้รับสัญชาติ ต่อมาได้มาทำงานเปิดธุรกิจที่ประเทศไทย และถูกชาวญี่ปุ่นรุมทำร้ายร่างกาย เหตุเกิดเมื่อปี 2565 เคยแจ้งความไว้ที่ สน.คลองตันแล้ว แต่ต้นปีที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนส่งฟ้องสำนวนต่ออัยการ ให้ดำเนินคดีผู้ต้องหาในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่อัยการกลับสั่งฟ้องในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับบาดเจ็บ ไม่ใช่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้ผู้ต้องหาทั้งหมดที่สั่งฟ้องไป เมื่อให้การรับสารภาพ ศาลก็เมตตา พิพากษาให้จำคุก 2 เดือน โดยให้รอลงอาญาทั้งหมด ผู้เสียหายจึงรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมกับกฎหมายไทย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา อัยการยังได้ส่งหนังสือไปถึงผู้เสียหายให้ไปยื่นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่หนังสือมาถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เมื่อผู้เสียหายติดต่อกลับไป กลับพบว่าศาลมีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม วันนี้จึงต้องการมาปรึกษาอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิฯ ว่าอัยการฟ้องอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และทางเพจสายไหมต้องรอดจะรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับแก๊งยากูซ่าที่เข้ามาทำธุรกิจสีเทาในไทยไปร้องต่อพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วย โดยพบว่าแก๊งยากูซ่าเหล่านี้มักจะเข้ามาฮุบกิจการของชาวต่างชาติที่เปิดธุรกิจอย่างถูกกฎหมายในไทย มาเป็นสถานที่ฟอกเงินของแก๊งตนเอง
ขณะที่นายเทตซูโอ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านล่ามแปลภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเปิดเผยว่า วันที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายได้ไปสังสรรค์กับเพื่อนที่ร้านอาหารย่านพระโขนง แต่ระหว่างที่นั่งกินอยู่ก็ถูกกลุ่มผู้ก่อเหตุถือไม้กอล์ฟเข้ามารุมตีและลากไปทำร้ายที่หน้าร้านจนสลบ ส่วนมูลเหตุจูงใจเชื่อว่ามาจากการที่ตนเองเคยรู้จักกับหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อเหตุ จากการที่เคยเป็นพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจร้านคาราโอเกะและร้านอาหาร แต่ขัดแย้งกันเพราะอีกฝ่ายพยายามแย่งชิงอำนาจบริหาร จึงแตกคอกัน จากนั้นผู้ก่อเหตุก็ไปเข้ากับกลุ่มแก๊งยากูซ่ารายใหญ่ของญี่ปุ่น
ซึ่งผู้เสียหายเล่าอีกว่า แก๊งนี้เกี่ยวข้องกับการต้มตุ๋นหลอกลวงที่ประเทศญี่ปุ่นและนำเงินมาฟอกเงินในไทย ผ่านการเปิดร้านอาหารและธุรกิจต่างๆ ซึ่งผู้เสียหายก็เคยแจ้งข้อมูลทั้งกับตำรวจไทยและตำรวจญี่ปุ่น รวมถึงสถานทูตญี่ปุ่นแล้ว แต่ไม่มีฝ่ายไหนดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหา โดยอ้างว่าข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งหลังเกิดเหตุผู้เสียหายก็ได้รับข้อความข่มขู่ว่าจะอุ้มไปฆ่าและนำไปฝังที่ประเทศกัมพูชา แต่ผู้เสียหายก็ไม่อยากจะหวาดกลัว และอยากสู้ให้เต็มที่ จึงขอความร่วมมือจากสื่อไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาของแก๊งยากูซ่าดังกล่าว และหลังจากนี้ก็จะเตรียมร้องกับสถานทูต
ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิฯ เปิดเผยภายหลังการรับเรื่องร้องทุกข์ว่า ในชั้นต้นจากเอกสารพบว่าอัยการสำนักงานคดีศาลแขวงกรุงเทพใต้ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้ว แต่ไม่พบเอกสารที่พนักงานสอบสวน นำใบรับรองแพทย์ว่าบาดเจ็บสาหัส ต้องรักษาเป็นเวลานาน ส่งให้อัยการ ดังนั้นก็จะมีการสอบถามเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงจากอัยการคดีศาลแขวงก่อน ส่วนคดีนี้ที่มีการฟ้องไปแล้ว ศาลพิพากษาไปแล้ว การจะรื้อคดีอาญาเป็นเรื่องยาก แต่ยังสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ ซึ่งสำนักงานคุ้มครองสิทธิฯ ก็พร้อมจะช่วยเหลือผู้เสียหาย