อสส.ยันแจ้งข้อหา ม.112 “ทักษิณ”แล้ว เจ้าตัวปฏิเสธพร้อมทำหนังสือขอความเป็นธรรม-รอ อสส.พิจารณาสั่งคดี !!

821

อสส.แจงยิบ ขั้นตอนอายัดตัว”ทักษิณ” คดี ม.112 เผย”ทักษิณ”ปฏิเสธข้อกล่าวหายื่นหนังสือ ขอความเป็นธรรม ขณะนี้สำนวนอยู่ในการพิจารณา เพื่อเสนอใหม่อสส. มีความเห็นทางคดีโดยไม่มีกรอบเวลา-​ ปัดตอบแจ้งข้อกล่าวหาที่ชั้น 14 รพ.ตร.ขออย่าสนใจที่รายละเอียด

วันที่ 6 ก.พ.67 เวลา 11.00น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ , นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย , นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 แถลงข่าว กรณี ความคืบหน้าคดี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 รายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ 

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกันอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ตามข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับและพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญาและออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ทราบแล้ว ปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไว้กับทางกรมราชทัณฑ์ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ส่วนผลความคืบหน้าทางคดีเป็นประการใด สำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงให้ทราบต่อไป

เมื่อถามว่า ในวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่อัยการได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับ ทักษิณ ชินวัตร เป็นการแจ้งที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจใช่หรือไม่ นายประยุทธ ชี้แจงว่ายังไม่ทราบรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน แต่ยืนยันว่ามีการไปแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ย้ำว่าไม่ต้องไปสนใจรายละเอียด

ส่วนแนวทางการอายัดตัวของอดีตนายกฯ หลังถูกจับตาว่าจะมีการได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ ผ่านการใช้สิทธิผู้ต้องขังสูงอายุ และมีโรคประจำตัวรุมเร้า จะมีผลในต่อการอายัดตัวในคดีนี้อย่างไรบ้าง ประยุทธ ชี้แจงว่า ก่อนที่ทักษิณจะได้รับการพักโทษ กรมราชทัณฑ์ จะต้องแจ้งตำรวจและตำรวจ จะใช้ดุลพินิจว่า จะอายัดตัวทักษิณ ไปฝากขังในตามเงื่อนไข หรือพิจารณาปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข แต่ในระหว่างที่มีการปล่อยตัวตามเงื่อนไข ทักษิณก็ต้องไปรายงานตัว ในคดีที่ได้รับการพักโทษ หากว่าไม่ไปรายงานตัว พนักงานสอบสวนก็สามารถออกหมายจับได้อีก
ส่วนกรอบเวลาณขณะนี้ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่ขอให้มั่นใจว่า สำนักงานอัยการสูงสุด จะพิจารณาทุกอย่างตามพยานหลักฐานที่มี อยากขอให้เชื่อมั่น ในกระบวนการทำงานของอัยการ

สำหรับกรณี ที่อดีตนายกฯ ยื่นขอความเป็นธรรมหลังจากที่มีการเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมานั้น จะมีผลต่อการพิจารณาคดีหรือไม่ นายประยุทธ์ ระบุ เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับการพิจารณาคดี และสามารถทำควบคู่กันได้ ซึ่งแนวทางการพิจารณาของอัยการสูงสุด มีอยู่ 3 แนวทางคือ 1.สั่งฟ้อง 2.สั่งไม่ฟ้อง 3.มีเรื่องที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมจึงยังไม่สั่งฟ้อง

ส่วนข้อกังวลว่าคดีนี้จะคล้ายกับกรณีของบอส กระทิงแดง ที่ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเป็นจำนวนหลายครั้ง จนทำให้คดีนั้นเกิดความล่าช้าถูกมองว่าเป็นการประวิงเวลาหรือไม่ นายประยุทธ์ กล่าวว่า จากคดีดังกล่าวสำนักงานอัยการ ได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่แล้ว ซึ่งการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในปัจจุบัน ต้องให้เจ้าตัวเป็นคนยื่นด้วยตนเองเท่านั้น ไม่สามารถส่งตัวแทนหรือยื่นผ่านทนายความได้ และถ้าหากยื่นด้วยประเด็นเดิมซ้ำๆ อัยการก็จะใช้ดุลพินิจของอัยการว่าจะรับคำร้องขอความเป็นธรรมนี้หรือไม่ ซึ่งจะรับหรือไม่รับก็ได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของทางอัยการ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยัน “ตำรวจ ปอท.” สามารถอายัดตัว “ทักษิณ” ที่ รพ.ตำรวจ ในคดี 112 ได้ทันทีหากเจ้าตัวผ่านเกณฑ์พักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เเย้ม “กรมราชทัณฑ์” อยู่ระหว่างพิจารณาคุณสมบัติรายชื่อผู้ต้องขังกว่าพันรายทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์โครงการพักโทษ เพื่อเตรียมเสนอ “คกก.พิจารณาพักการลงโทษ” ก่อนเสนอชั้นรัฐมนตรี

จากกรณีที่นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ได้ทำหนังสือไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพื่อขอรับทราบความคืบหน้าคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีความผิดมาตรา 112 เนื่องจากนายทักษิณเคยไปกล่าวรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวที่ต่างประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. ได้มีการสรุปสำนวนส่งอัยการ และอัยการสูงสุดเห็นพ้องมีคำสั่งเด็ดขาดให้ฟ้องนายทักษิณ มีความผิดตามมาตรา 112 กระทั่งนายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงทำหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปยัง บก.ปอท. อีกครั้ง ต่อมาวันที่ 18 ต.ค.66 ทางตำรวจ บก.ปอท. ได้ส่งหนังสือชี้แจง ระบุใจความบางช่วงบางตอนว่า “ได้มีหนังสือแจ้งการอายัดตัวผู้ต้องหาไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พร้อมกับประสานงานขอให้พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำผู้ต้องหา ซึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แจ้งว่าผู้ต้องหามีอาการเจ็บป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่โรงบาลตำรวจ กรณีดังกล่าวหากได้รับการแจ้งประสานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครถึงความพร้อมเมื่อใด พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนจะเข้าทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำผู้ต้องหาโดยทันที” อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ม.ค.67 นางวิรังรอง ยังได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และได้รับการตอบกลับผ่านหนังสือมาว่า “ขณะนี้ผู้ต้องหาถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ประสานไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเข้าไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่ได้รับแจ้งจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครให้เข้าไปภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือสถานที่ผู้ต้องหาถูกจำคุกอยู่เพื่อดำเนินการดังกล่าวได้ กรณีมีเหตุขัดข้องทำให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการยังไม่อาจแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาดังกล่าวได้ พนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งการอายัดตัวผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าวแล้วและประสานงานขอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำผู้ต้องหาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครโดยเร่งด่วน เมื่อได้รับแจ้งกำหนดวันเวลาและสถานที่จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะเข้าร่วมทำการสอบสวนต่อไป” นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้รับการยืนยันจากนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า ตนได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือแจ้งการขออายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากคดีคงค้างเดิม ซึ่งตนได้รับการยืนยันจาก ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำนายทักษิณเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนกรณีที่มีหนังสือตอบกลับจากตำรวจ ปอท. ไปยังผู้ร้องเมื่อวันที่ 18 ต.ค.66 นั้น อาจจะเพราะว่าในตอนนั้นพนักงานอัยการยังไม่ได้รับการประสานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีระหว่างการอายัดตัวผู้ต้องขังทาง ผบ.เรือนจำฯ จะไม่ได้มีการรายงานมาที่กรมราชทัณฑ์ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจและอัยการเจ้าของคดีในการสอบสวนปากคำ อีกทั้งหนังสือขออายัดตัวผู้ต้องขังถือเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องของข้อตกลงระหว่างตำรวจและกรมราชทัณฑ์

นายสหการณ์ เผยอีกว่า สำหรับผู้ต้องหาที่ถูกศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีไปเรียบร้อยแล้ว และถ้าในระหว่างนั้นยังมีการพิจารณาในคดีอื่น ทางตำรวจก็จะแจ้งการอายัดขอตัวผู้ต้องหาไปที่เรือนจำฯ เพื่อให้เรือนจำฯ รู้ว่าถ้าครบวันจะปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือได้รับการพักโทษ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรู้ก่อน ซึ่งทางเรือนจำฯ จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รับทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปรับตัวผู้ต้องหานำส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการในคดีที่ขออายัดตัว ส่วนหากจะมีการขอประกันตัวใดๆก็เป็นไปตามกระบวนการ

เมื่อถามถึงความคืบหน้าเรื่องพิจารณารายชื่อผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์โครงการพักการลงโทษทั้งในกรณีปกติและกรณีมีเหตุพิเศษว่าเป็นอย่างไรบ้างนั้น นายสหการณ์ เผยว่า ส่วนเรื่องรายชื่อผู้ต้องขังทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการพักการลงโทษไม่ว่ากรณีปกติ หรือกรณีมีเหตุพิเศษ ทราบว่าได้มีการประชุมไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้รับจำนวนรายชื่อผู้ต้องขังหลายพันราย จากทั้งหมด 143 เรือนจำทั่วประเทศ ขณะนี้รายชื่อทั้งหมดอยู่ในชั้นของกรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมเสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ จากนั้นจึงจะนำเสนอไปยังชั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งแต่ละขั้นตอนค่อนข้างมีความละเอียด เพราะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้ต้องขังให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ควรได้รับ ทั้งนี้ ตนยังไม่สามารถให้คำยืนยันได้ว่ารายชื่อของนายทักษิณอยู่ในเกณฑ์ผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษหรือไม่ เนื่องจากยังต้องรอให้ผ่านกระบวนการของคณะกรรมการฯ แต่หากพูดตามหลักการ อดีตนายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้ต้องขังสูงวัย มีอาการเจ็บป่วย และรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 แต่อย่างไรคณะกรรมการฯ ก็จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และถ้ารายชื่อได้รับการรับทราบในชั้นกระทรวงยุติธรรม ก็จะต้องมีการแจ้งไปยังตำรวจ ปอท. เพื่อให้ดำเนินการเข้าอายัดตัวผู้ต้องหาในสถานที่คุมขังได้

เมื่อถามว่ารายชื่อของผู้ต้องขังทั้งหมดที่จะได้รับสิทธิ์พักโทษ ทางกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จและส่งไปยังคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อพิจารณา จะเสร็จสิ้นทันภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้หรือไม่ นายสหการณ์ เผยว่า ตนคิดว่าไม่น่าจะใช้เวลานานมากเพราะจะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังที่ควรได้รับ ซึ่งหากครบกำหนดโทษในวันใดก็ควรได้รับการปล่อยตัวในวันถัดไปจากวันครบกำหนดคุมขัง ส่วนกรณีที่แวดวงทางการเมืองมีการวิเคราะห์ว่าวันที่ 18 ก.พ. หรือวันที่ 22 ก.พ. จะเป็นวันที่อดีตนายกรัฐมนตรีจะได้รับการปล่อยตัวเพราะผ่านเข้าโครงการพักโทษนั้น โดยปกติแล้ว เรือนจำ/ทัณฑสถาน จะมีการพิจารณาล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าโครงการพักการลงโทษได้ถึง 3 เดือน เพราะเราต้องการให้ผู้ต้องขังไม่เสียประโยชน์ในการที่เขาจะได้พักโทษ และพอครบเวลาคุมขังแล้ว วันถัดไปก็สามารถปล่อยตัวเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษโดยกรมคุมประพฤติจะต้องรับไปดูแลต่อ ส่วนเรื่องการติดกำไล EM ผู้ต้องขังระหว่างพักโทษ ตนทราบว่ากรมคุมประพฤติจะมีข้อปฏิบัติหลายประเด็นที่จะต้องประเมิน เช่น ถ้าผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรง และดูแล้วไม่อยู่ในภาวะที่จะไปก่อความผิด หรือเป็นผู้สูงอายุ ที่ดูแล้วไม่สามารถไปสร้างปัญหาได้ ก็อาจเป็นข้อยกเว้นไม่ให้มีการติดกำไล EM แต่ในเรื่องการกำหนดรัศมีการเดินทางของผู้ต้องขัง กรมคุมประพฤติ จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนใด และแน่นอนว่าผู้ต้องขังจะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ในช่วงระหว่างการพักโทษ ส่วนในเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด กรมคุมประพฤติก็จะเป็นผู้กำหนด โดยต้องควบคุมไม่ให้เกิดปัญหา และต้องกำหนดสิ่งที่ผู้ต้องขังต้องปฏิบัติ ส่วนถ้าหากผู้ต้องขังจะไปออกรายการใด ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ กรมคุมประพฤติต้องไปประเมิน แต่ผู้ต้องขังจะต้องขออนุญาตก่อน เพราะแม้ได้รับการพักโทษ ก็ยังเป็นผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาล และห้วงเวลาเสร็จสิ้นการพักโทษก็ให้นับไปจนถึงวันที่ผู้ต้องขังจะพ้นโทษ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 จากนั้นได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ 1 ปี และได้รับการคุมขังมาแล้ว 6 เดือน ที่เหลือหลังจากนี้ก็จะเป็นระยะเวลาที่ต้องใช้คำนวณในการพักโทษที่เหลือ

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #อสส #ทักษิณชินวัตร #ราชทัณฑ์