พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 20 ก.ค. 2561 โดยระบุว่า “นอกจากโครงการคลินิกแก้หนี้ดังกล่าวที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้ของพี่น้องประชาชนทั่วไป รัฐบาลยังพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ของผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะอีกด้วย อาทิ หนี้ใน “กลุ่มครู” ที่เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และ การปฏิรูปการศึกษา เพื่อจะลดความกังวล และภาระ ในการดำรงชีวิต ที่สามารถทำหน้าที่การเป็น “แม่พิมพ์” ที่ดีของเด็ก ๆ ได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ามีครูเป็นหนี้ ทั้งในและนอกระบบ และมีมูลค่าหนี้อยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นหนี้สิน ของโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่มีผู้กู้อยู่กว่า 5 แสนราย คิดเป็นเงินกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้เสีย มากกว่า 5,000 ล้านบาท
ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระ ให้กับ “แม่พิมพ์ของชาติ” ที่มีหนี้ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการลดภาระหนี้ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยการให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 เพื่อนำไปชำระหนี้โครงการ ช.พ.ค. เดิม และเพื่อนำไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือน แต่ยังมีผู้มาร่วมโครงการไม่มากนัก นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ก็มีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ ที่มีปัญหาผ่อนชำระจนกลายเป็น “หนี้เสีย” สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ แล้วก็พักชำระ “เงินต้น” ไม่เกิน 3 ปี แต่ยังชำระ “ดอกเบี้ย” บางส่วน หรือเต็มจำนวน เพื่อให้สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ได้ให้ธนาคารออมสิน นำเงินสนับสนุนที่เคยได้รับจากโครงการ ช.พ.ค. ไปช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยดี ไม่มีหนี้ค้างชำระ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงจากเดิม ร้อยละ 0.5 – 1.0 คิดเป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ด้วย
สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ และ มาตรการแก้ไขหนี้ต่าง ๆ ที่รัฐบาลนี้ ได้ริเริ่มขึ้นนั้น เป็นเพียงการพยายามแบ่งเบาภาระ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ “ปลายเหตุ” เท่านั้น ด้วยการช่วยเข้าไปผ่อนผัน ให้สามารถชำระหนี้ได้ตามความสามารถ โดยไม่ได้รับความเดือดร้อนจนเกินไป แต่ก็ยังคงเป็นภาระของพี่น้องประชาชนในการดำรงชีวิตอยู่ดี ดังนั้น การแก้ปัญหาการก่อหนี้เกินตัวที่ “ต้นเหตุ” จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะไม่ส่งผลเสียอื่น ๆ ลุกลามเป็นลูกโซ่ คือการพยายามไม่เข้าสู่ “วงจร” การเป็นหนี้ โดยต้องเริ่มจากตัวเราทุกคนเอง ภาครัฐก็จะมีบทบาทในการสนับสนุนอีกแรงหนึ่งนะครับ ทั้งนี้เราต้องยอมรับกันว่า การก่อหนี้ในหลายกรณีเป็นความจำเป็น โดยเฉพาะจากความเดือดร้อนที่เป็นผลจากภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตเสียหาย เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ภาครัฐเองก็ได้พยายามเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยังมีกรณีการกู้ยืมทั่วไป ที่อาจไม่ใช่เพื่อการใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งทำอย่างไร เราจะป้องกันการเป็นหนี้ในลักษณะเช่นนี้ ที่อาจกลับมาเป็นภาระกับเรา “โดยไม่จำเป็น”
หลาย ๆ คนพูดกันถึงเรื่องการมีวินัยทางการเงิน และการออมเพื่อวันหน้า แต่สำหรับหลายครัวเรือน ของผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ฟังดูเหมือนจะทำได้ยาก สำหรับผม สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ศาสตร์พระราชา” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้กับปวงชนชาวไทย มาใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต เริ่มจากการมีสัมมาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ และหาทางเพิ่มรายได้ เมื่อมีโอกาส พยายามใช้จ่ายอย่างพอเพียง เท่าที่จำเป็น มีการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวเห็นรายได้ และรายจ่ายแต่ละรายการ สามารถจะวางแผนการใช้จ่ายและ การสร้างรายได้ ในอนาคตได้ แล้วก็เตรียมการเรื่องเงินออมด้วย”