นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำคำของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชั่นไทย เข้าร่วมเทศกาลและงานประกาศรางวัลนานาชาติ จำนวน 3 เทศกาล
งานดังกล่าวได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัม (International Film Festival Rotterdam: IFFR) ราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ ในเดือนมกราคม 2567 เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และ เทศกาลภาพยนตร์โอซาก้า (Osaka Asian Film Festival :OAFF) ครั้งที่ 19 ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม 2567 ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรมได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนโดยใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนผู้ประกอบการภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชั่นไทย เข้าร่วมเทศกาลและงานประกาศรางวัลนานาชาติ 3 เทศกาลข้างต้น
รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า วธ.สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน และค่าที่พักให้แก่ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้สร้าง นักแสดง ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัม และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ซึ่งถือเป็นเทศกาลสำคัญในตลาดยุโรป โดยภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกให้ไปจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัม ประกอบด้วย ภาพยนตร์เรื่อง The Cursed Land (เข้าชิงรางวัล NETPAC Award) ภาพยนตร์เรื่อง Not Friends ภาพยนตร์เรื่อง Crazy Lotus (เข้าประกวดในสาย Tiger Short Competition สำหรับภาพยนตร์ขนาดสั้น) ภาพยนตร์เรื่อง Rivulet of Universe และ ภาพยนตร์เรื่อง Spirits of the Black Leaves
สำหรับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินมีภาพยนตร์ได้รับการคัดเลือกจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง Here We Are และภาพยนตร์เรื่อง Myanmar Anatomy ส่วนเทศกาลภาพยนตร์โอซาก้า วธ.ได้สนับสนุนค่าจัดฉายภาพยนตร์เพิ่มเติมจากค่าบัตรโดยสารเครื่องบินให้แก่ผู้กำกับ ผู้ผลิต รวมถึงนักแสดง จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ สัปเหร่อ (The Undertaker) เพื่อน(ไม่)สนิท (Not Friends) ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง (Solids by the Seashore) หุ่นพยนต์ (Hoon Payon) แว่วเสียงไฟ (Blazed Away) และ How We Say Goodbye
“การสนับสนุนดังกล่าวของรัฐบาลและวธ.ทำให้บุคลากรมืออาชีพของไทยได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงาน ทำให้บุคลากรในวงการภาพยนตร์และผู้ชมภาพยนตร์ต่างประเทศได้รู้จักผลงานภาพยนตร์ของไทย ตลอดจนรับทราบถึงความสามารถในการผลิตและสร้างสรรค์ผลงานของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากล” นายเสริมศักดิ์ กล่าว