กรมอนามัย เผยจากเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุระเบิด จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ตรวจหาสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งบริเวณโดยรอบโรงงาน และในชุมชน พบว่า ไม่มีสารปนเปื้อนในน้ำ ยืนยันว่าประชาชนสามารถใช้น้ำได้อย่างปลอดภัย ส่งทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ลงพื้นที่ดูแลสุขภาพประชาชน และเฝ้าระวังอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุโรงงานผลิตพลุระเบิด จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตจากแรงระเบิด บ้านเรือนเสียหาย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่มีความกังวลอาจได้รับผลกระทบสุขภาพจากสารเคมีที่ใช้ทำพลุปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมกรมอนามัย โดยทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำประปาชุมชนเพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงสารตกค้าง และสำรวจผลกระทบทางสุขภาพในพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ภายหลังเกิดเหตุในระยะที่ 3 เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้ประชาชนในการอาศัยอยู่ในชุมชนและบ้านเรือนได้อย่างปลอดภัย ผลการดำเนินการพบว่า 1) ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีที่มาจากควันและเขม่าจากพลุที่ระเบิดในอากาศ ดังนั้น จึงไม่มีความเสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจ
2) ไม่พบสารตกค้างที่เป็นส่วนประกอบของพลุ เช่น ไนเตรท ไนไตรท์ ตะกั่ว แคดเมียม ปนเปื้อนในน้ำ ทั้งแหล่งน้ำ ที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน และระบบประปาในชุมชน จึงยืนยันว่าประชาชนสามารถนำน้ำจากประปาชุมชนมา ใช้ในการอุปโภค บริโภคได้ และจากกรณีของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเสียงระเบิดจนมีภาวะหูอื้อ พบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวขณะนี้ ไม่มีอาการหูอื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แล้ว รวมทั้งไม่มีประชาชนในชุมชนมีอาการ หรือผลกระทบอื่นจากเหตุพลุระเบิดเพิ่มเติม ซึ่งจากการติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพของกรมอนามัย ประชาชนจึงสามารถมั่นใจในการอาศัยในชุมชน บ้านเรือนที่ปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีจากโรงงานพลุ ในสิ่งแวดล้อม
“ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า โรงงานดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตการประกอบกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีการประกาศใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่นในการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ไม่มีการควบคุม กำกับ สุขลักษณะการประกอบการตามมาตรฐาน กรมอนามัยจึงขอให้ท้องถิ่นพิจารณาเร่งรัดให้มีการประกาศข้อบัญญัติท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อให้มีอำนาจในการควบคุม กำกับ กำหนดขอบเขตพื้นที่ตั้งที่ปลอดภัย และจัดการสุขลักษณะ ของสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมทั้งมีระบบป้องกันความเสี่ยงต่อพนักงานและประชาชนบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะการประกอบการ โรงงานที่เกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ที่มีความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพร้ายแรง ส่งผลให้เกิดเหตุภัยพิบัติสารเคมีรั่วไหลหรือระเบิด และค่อนข้าง มีความรุนแรง สร้างความเสียหายและอันตรายกับประชาชน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว