“รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ “คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างอาคารชุดย่านบางพลัด ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดสามัคคีสุทธาวาส เล็งปั้นสวน 15 นาทีปากซอยรุ่งประชา จ่อยกเลิกจุดทำการค้าหน้าตลาดพงษ์ทรัพย์

(22 ม.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางพลัด ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย Chapter One Spark Charan ถนนจรัญสนิทวงศ์ ความสูง 26 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้จัดทำบ่อล้างล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ล้างทำความสะอาดพื้นทางเข้าโครงการไม่ให้มีเศษดินตกค้าง ปูแผ่นเหล็กด้านข้างทางเข้า-ออกโครงการบริเวณจุดที่เป็นพื้นดิน ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบ ตรวจสอบให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เปิดตลอดช่วงเวลาที่ทำการก่อสร้าง นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 23 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทถมดินท่าทราย 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดสามัคคีสุทธาวาส ซอยจรัญสนิทวงศ์ 85 พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา มีครูบุคลากรและนักเรียน 220 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังรองรับขยะเศษอาหารบริเวณโรงอาหาร จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะจากอาหารสดให้แก่ชุมชนและนักเรียน มีเครื่องทำปุ๋ยจากขยะสดและเศษอาหาร โดยปุ๋ยที่ได้นำไปบำรุงดินในแปลงผักของโรงเรียน การทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ที่ได้จากการกวาดลานสนามในโรงเรียน 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังรองรับขยะรีไซเคิลบริเวณอาคารเรียน นำกล่องนมโรงเรียนมาสานเป็นตะกร้าใส่ของและสิ่งประดิษฐ์ นำขวดพลาสติกเหลือมาใช้เป็นวัสดุงานประดิษฐ์ในการจัดการเรียนการสอนและสื่อการเรียนรู้ เช่น ชุดขวดรดน้ำผักแทนบัวรดน้ำ กระปุกออมสิน ตะกร้า จัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนคัดแยกขยะในโรงเรียน จัดทำห้องเรียนรู้การคัดแยก โรงเรียนปลอดขยะ กิจกรรมขยะแลกของ โดยเข้าร่วมโครงการโรงเรียนรักษ์โลก แยกขยะลุ้นโชคกับบริษัทมอนเดลีซ นอกจากนี้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ได้จัด Workshop เกี่ยวกับการคัดแยกขยะในโรงเรียน 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะทั่วไปบริเวณอาคารเรียน กิจกรรมลูกเสือน้อยรณรงค์ทิ้งขยะให้ลงถังและรักษาความสะอาดในโรงเรียนและชุมชนโดยรอบ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,271 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,271 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 62 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 84 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 17 กิโลกรัม/เดือน

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณที่ว่างริมถนนบรมราชชนนี หน้าร้านสยามชัย ปากซอยรุ่งประชา เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ที่ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบ่อบัว (ทางกลับรถต่างระดับถนนสิรินธร-ถนนบรมราชชนนี) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 2.สวนหย่อมข้างโรงพยาบาลตา หู คอ จมูก พื้นที่ 1,240 ตารางเมตร 3.สวนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 วัดบวรมงคล ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (สวนหย่อมวัดบวรมงคล) พื้นที่ 3 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) ที่จัดทำขึ้นใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ที่ว่างริมถนนสิรินธร หน้าแขวงทางหลวงธนบุรี พื้นที่ 600 ตารางเมตร 2.ที่ว่างริมถนนบรมราชชนนี หน้าร้านสยามชัย ปากซอยรุ่งประชา พื้นที่ 1,225 ตารางเมตร โดยเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อการพัฒนาสวน 15 นาที ผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม กลุ่มเขตกรุงธนเหนือร่วมกับกลุ่ม We! Park ดำเนินการออกแบบรูปแบบภายในสวน อยู่ระหว่างจัดทำรูปรายการ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับการใช้งาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดพงษ์ทรัพย์ ถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 80 ราย ได้แก่ 1.บริเวณสะพานพระราม 8 ตั้งแต่ซอยอรุณอมรินทร์ 53 ถึงซอยอรุณอมรินทร์ 57 รวมผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 38 ราย 2.หน้าวัดภคินีนาถ ตั้งแต่จุดกลับรถสะพานกรุงธน ถึงซอยราชวิถี 21 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. 3.หน้าตลาดพงษ์ทรัพย์ ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-11.00 น. 4.หน้าตลาดกรุงธน ตั้งแต่ธนาคารกสิกรไทยสาขาราชวิถี ถึงแยกบางพลัด ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. และ 5.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ตั้งแต่ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ถึงคลองบางยี่ขัน ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ซึ่งเขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2567 ได้แก่ 1.หน้าตลาดพงษ์ทรัพย์ ผู้ค้า 6 ราย 2.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ผู้ค้า 3 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณายกเลิกหรือรวบจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางพลัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี