เปิดสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง จ.แพร่   

466


เมื่อวันที่ 17 ม.ค.67 พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง โดยมีคณะผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานราชการในจ.แพร่ ร่วมพิธี ณ สถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง เลขที่ 6/1 หมู่ 5 ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ว่า สถานีเรดาร์ร้องกวางมีเนื้อที่รวม 10 ไร่ ตัวสถานีเป็นอาคารปูนสูง 7 ชั้น จัดสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการติดตามและศึกษากลุ่มเมฆฝน ตรวจวัดทิศทางและความเร็วของการเคลื่อนที่ของกลุ่มฝน ตรวจสอบปริมาณน้ำฝน ติดตามลักษณะทางกายภาพของกลุ่มฝน การพยากรณ์อากาศ และการแจ้งเตือนภัยที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมทั้งสามารถประมวลผลฐานข้อมูลในทางอุตุนิยมวิทยา โดยจะนำการประมวลผลต่างๆ ที่ได้มาประกอบการวางแผนและการประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ในภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้งให้แก่เกษตรกร และเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนเก็บกักน้ำ

นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้นำมาใช้ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในการดัดแปรสภาพอากาศ 
เพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิบัติการฝนหลวงและประสิทธิภาพการทำงานในอนาคต ภายในสถานีติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำงาน ประกอบไปด้วย เรดาร์ตรวจอากาศ ชนิด S-Band มีรัศมีการตรวจ 240 กิโลเมตร ทางภาคเหนือตอนบนฝั่งตะวันออกครอบคลุม 16 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เลย และบางส่วนของจ.เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ตาก และแม่ฮ่องสอน เครื่องตรวจอากาศชั้นบน

สำหรับตรวจสภาพอากาศที่มีความสูงประมาณ 15 – 30 กิโลเมตรจากพื้นดิน มีรัศมีการตรวจประมาณ 30 – 70 กิโลเมตร เครื่องตรวจอากาศผิวพื้น สำหรับตรวจสภาพอากาศผิวพื้นบริเวณสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง เครื่องตรวจอากาศชั้นบน แบบคลื่นสั้น สำหรับการตรวจสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ในรัศมี 10 กิโลเมตร ระบบถังวัดน้ำฝนอัตโนมัติ โดยทำการติดตั้งถังวัดน้ำฝน 50 ถัง รอบรัศมี 240 กิโลเมตร ครอบคลุม 15 จังหวัด และโปรแกรม TITAN สำหรับการพยากรณ์สภาพอากาศและติดตามเส้นทางการบินปฏิบัติการฝนหลวง

ด้านนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯเริ่มต้นสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง ในระยะที่ 1 ระหว่างปี 60 – 63 ซึ่งตอนนั้นนำเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝน ชนิด C Band ความถี่ 5.6 GHz. มาใช้ตรวจสภาพอากาศในบริเวณนี้ ส่วนในระยะที่ 2 ระหว่างปี 64 – 66 ได้ปรับปรุงเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มระบบถังวัดระดับน้ำฝนแบบอัตโนมัติ 50 จุด ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 240 กิโลเมตร ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน และระยะที่ 3 ระยะสุดท้ายปี 66 ถึงปัจจุบัน โดยการก่อสร้างตัวอาคารเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 65 ให้เป็นแบบสถานีแบบประจำที่ชนิด S-Band ความถี่ 2.8 GHz. แบบ Dual Polarization

เพราะในภูมิภาคภาคเหนือฝั่งตะวันออกนั้น สถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รัศมีการตรวจวัดสภาพอากาศไม่ครอบคลุมบริเวณนี้ ซึ่งเท่ากับว่าได้ช่วยแบ่งเบาภาระงานของสถานีเรดาร์ฝนหลวงที่อื่นๆ ด้วย และที่มากไปกว่านั้นสามารถตรวจวัดสภาพอากาศบางส่วนของจ.เลย อุดรธานี ได้เช่นกัน ทำให้การส่งต่อข้อมูลสภาพอากาศประจำวันให้กับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงต่าง ๆ นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลการตรวจสภาพอากาศเหล่านี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ นำข้อมูลไปประกอบการทำงานได้อีกด้วย สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่หน้าหลักของเว็บไซต์ เมนู “ข้อมูลสภาพอากาศ” ซึ่งจะสามารถทำให้พี่น้องเกษตรกรนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการตัดสินใจวางแผนการเพาะปลูก หรือพ่อค้า แม่ค้า สามารถนำข้อมูลสภาพอากาศไปประกอบได้ว่า หากขณะนี้มีกลุ่มฝนเคลื่อนตัวมาบริเวณสถานที่ค้าขาย พ่อค้าแม่ค้าจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝนหรือไม่ จะเห็นได้ว่า งานโครงการในพระราชดำริฝนหลวง ที่กรมฝนหลวงฯ ได้สานต่อเป็นงานที่มีความสำคัญต่อประชาชนอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงแล้ง หรือในช่วงที่บางพื้นที่ของประเทศประสบปัญหามลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หมอกควัน ไฟป่า ก็สามารถช่วยบรรเทาและคลี่คลายได้ ขอให้ประชาชนทุกคนเชื่อมั่นในการทำงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการปฏิบัติภารกิจสนอง
พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร

จากนั้นในช่วงบ่าย พล.อ.อ.ชลิต เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ถางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.
บ้านเวียง อ.ร้องกวาง เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานของการปฏิบัติการฝนหลวง ในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำต่าง ๆ รวมทั้งบรรเทาภาวะวิกฤตภัยแล้ง และปัญหาหมอกควันและไฟป่า 
อ่างเก็บน้ำแม่ถาง เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร 
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.23 พร้อมพระราชทานพระราชดำริ ความว่า “ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำยม ให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้”

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์