”ศาลฎีกาฯ“พิพากษา 3 สส.ภูมิใจไทย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

22646

หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆกับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเวลาสิบปี

วันพุธที่ 10 มกราคม 2567(เวลา 14.00 น.)องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.3/2564 หมายเลขแดงที่ คมจ.1/2567ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ที่ 1 นายภูมิศิษฏ์ คงมี ที่ 2 นางนาที รัชกิจประการ ที่ 3 ผู้คัดค้าน

โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสามดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 เวลา 09.30 น. ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 17.41น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ผู้คัดค้านทั้งสามลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เวลา 06.50น. ของวันที่ 10 มกราคม 2563 ถึงเวลา 17.30 น.ของวันที่ 11 มกราคม 2563 ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เวลา 18.43 น.ของวันที่ 10มกราคม 2563 ถึงเวลา 12.00น. ของวันที่ 11 มกราคม 2563 และผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เวลา 14.28 น.ถึงเวลา 17.41 น. ของวันที่ 11 มกราคม 2563 โดยผู้คัดค้านทั้งสามฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยความยินยอมของผู้คัดค้านทั้งสามโดยมีเจตนาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้คัดค้านทั้งสามแสดงตนและลงมติแทนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ รับฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์นำบัตรไปแสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแทนผู้คัดค้านที่ 1 ในวาระที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 31 ถึงมาตรา 34 มาตรา 37 ถึงมาตรา 43 และมาตรา 45 ถึงมาตรา 53 กับวาระที่ 3 และข้อสังเกต แทนผู้คัดค้านที่ 2 ในวาระที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 31 ถึงมาตรา 34 มาตรา 37 ถึงมาตรา 43 และแทนผู้คัดค้านที่ 3 ในวาระที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 43และมาตรา 45 ถึงมาตรา 49 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่อันสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เหตุเกิดที่อาคารรัฐสภาแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ งว่า ผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 6 หยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้องจนกว่าจะมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านทั้งสามพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปี ตามรัฐรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้แล้วต่อมาอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสามเป็นคดีอาญาด้วยมูลเหตุเดียวกับคดีนี้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน เมื่อศาลในคดีอาญาดังกล่าวมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 256) แล้ว จึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อโดยไต่สวนพยานผู้ร้องวันที่ 26 ตุลาคม 2566 กับไต่สวนพยานผู้คัดค้านทั้งสามวันที่ 27 ตุลาคม 2566


องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระและวรรคสองบัญญัติให้เมื่อมีการประกาศใช้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎรที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่งดังกล่าว ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับวันที่ 31 มกราคม 2561 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ดังนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวย่อมมีผลให้ต้องนำมาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านทั้งสามด้วยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคสอง โดยมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1 ) บัญญัติให้เป็นอำนาจของผู้ร้องในการไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ส่วนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตราข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ และต่อมาประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตราข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563

ก่อนที่ผู้ร้องจะมีมติให้ไต่สวนคดีนี้นั้น เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดั่งกล่าวในการตราข้อบังคับกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเพิ่มเติมขึ้นจากมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อาจมีขั้นตอนและรายละเอียดในการปฏิบัติหน้าที่แตกต่างจากองค์กรอื่น จึงเป็นเรื่องที่การตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถกระทำได้หลายทางและโดยองค์กรที่ต่างกัน ไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดให้ต้องดำเนินการเฉพาะทางใดทางหนึ่งเท่านั้น ผู้ร้องย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีมติเป็นคดีนี้ได้ ไม่จำต้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ผู้ร้อง และแม้มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2561 ข้อ 11,17 และ 21 จะอยู่ในหมวด 2 และหมวด มิได้อยู่ในหมวด 1 ที่ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามข้อ 27 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่ข้อ 27 วรรคสอง กำหนดว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ้าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น การกล่าวหาว่าผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จึงอาจเป็นกรณีที่มีลักษณะร้ายแรงได้ ชอบที่ผู้ร้องจะดำเนินการไต่สวนและเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๓๕ วรรคหนึ่ง (1 ) ผู้ร้องจึงมีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้องคดีนี้

ส่วนที่ว่าผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรง ตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพ.ศ. 2561 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 17 และข้อ 21 ประกอบข้อ 27 ตามคำร้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามคำร้อง แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานแวดล้อมอื่นประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นเอกสารสำคัญประจำตัวซึ่งแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้แทนประชาชน ผู้คัดค้านทั้งสามต้องใช้มาตรฐานที่มากกว่าวิญญูชนทั่วไปในการดูแลรักษาบัตรดังกล่าว ทางไต่สวนได้ความว่าภายหลังผู้คัดค้านทั้งสามทราบว่าตนลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในที่ประชุมก็ไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านทั้งสามดำเนินการใดเพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นนำบัตรของตนไปใช้ ทั้งเมื่อทราบว่ามีผู้อื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปใช้แสดงตนและลงมติโดยไม่ได้รับความยินยอม ผู้คัดด้านทั้งสามก็มีได้เร่งรีบตรวจสอบข้อเท็จจริงหรืออาศัยกลไกทางกฎหมายเพื่อสืบหาตัวผู้กระทำดังกล่าวหรือแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการผิดวิสัยของวิญญูชนผู้สุจริต ความเห็นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของพรรคภูมิใจไทยที่ว่าการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ยังฟังไม่ได้ว่ามีความผิดตามข้อบังคับของพรรค มิได้ทำให้ภาระหน้าที่ในการป้องกันบุคคลอื่นนำบัตรของตนไปใช้หรือการติดตามหาผู้ที่นำบัตรดังกล่าวไปใช้สูญสิ้นไป ประกอบกับการที่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ระบุหมายเลขประจำตัว ชื่อ และชื่อสกุลเจ้าของบัตรไว้ย่อมเป็นการง่ายที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นจะสังเกตเห็นได้ว่าบัตรนั้นเป็นของผู้ใด ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการนำบัตรไปใช้โดยพลการอย่างต่อเนื่องทันทีที่ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมหากไมได้รับมอบหมายหรือได้รับความยินยอมจากผู้คัดค้านทั้งสาม และหากผู้คัดค้านทั้งสามหลงลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในที่ประชุมจริง เจ้าหน้าที่สำนักการประชุมย่อมต้องพบและเก็บบัตรของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ตั้งแต่หลังเลิกประชุมในวันที่ 10 มกราคม 2563 การที่ผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่าเร่งรีบออกจากที่ประชุม ก็ไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านทั้งสามแจ้งให้ผู้ใดทราบ เป็นเรื่องยากที่บุคคลอื่นจะทราบถึงการไม่อยู่ร่วมในที่ประชุมของผู้คัดค้านทั้งสามจนสามารถใช้บัตรแสดงตนและลงมติได้ต่อเนื่องทันที ทั้งช่วงเกิดเหตุมีที่นั่งและช่องเสียบบัตร 300 ที่นั่ง ไม่เพียงพอต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำให้ต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนใช้เครื่องเสียบบัตรร่วมกันและระหว่างการประชุมไม่มีการบันทึกภาพสมาชิกขณะแสดงตนและลงมติไว้ ย่อมเป็นช่องทางให้มีการนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นไปใช้แสดงตนและลงมติแทนได้ง่ายโดยที่ถูกพบเห็นได้ยาก จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เชื่อว่ามีบุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้คัดค้านทั้งสามโดยความรู้เห็นและยินยอมของผู้คัดค้านทั้งสาม


สำหรับพฤติการณ์กลับมาร่วมประชุมในวันที่ 11 มกราคม 2563 ของผู้คัดค้านที่ 2 นั้น มิใช่ข้อยืนยันว่าจะไม่มีการมอบหมายหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน ผู้คัดค้านที่ 2 มิได้อ้างชื่อของบุคคลที่ตะโกนเรียกให้ทราบว่าบัตรของผู้คัดค้านที่ 6 อยู่ที่ใดไว้ ทั้งที่เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถให้รายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนพฤติการณ์ลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์และพิสูจน์เจตนาสุจริตได้ ถือเป็นข้อพิรุธและเป็นเรื่องผิดวิสัย สำหรับพฤติการณ์การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้คัดค้านที่ 3 นั้น แม้มิได้มีการใช้แสดงตนและลงมติแทนโดยตลอดไปจนเสร็จสิ้นการประชุมและเจ้าหน้าที่พบบัตรของผู้คัดค้านที่ 3 หลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันที่ 11 มกราคม 2563 แต่ก็มิใช่ข้อยืนยันว่าจะไม่มีการฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรแสดงตนและลงมติแทน ผู้คัดค้านที่ 3 ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองต้องแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีการถ่ายภาพและออกหลักฐานทางราชการ และผู้คัดค้านที่ 3 ลาประชุมในวาระถัดไปไว้ หากมีข้อโต้แย้งหรือข้อร้องเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับการไม่อยู่ในที่ประชุม การแสดงตน หรือการลงมติภายหลังช่วงเวลาดังกล่าวย่อมเป็นการง่ายที่บุคคลทั่วไปจะตรวจสอบฐานที่อยู่ของผู้คัดค้านที่ 3 สอดคล้องกับที่มีการหยุดแสดงตนและลงมติแทนผู้คัดค้านที่ 3แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 3 ตระเตรียมวางแผนล่วงหน้าโดยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้แก่บุคคลอื่นก่อนที่ผู้คัดค้านที่ 3 จะออกไปจากที่ประชุม และบุคคลดังกล่าวต้องทราบความเคลื่อนไหวของผู้คัดค้านที่ 3 เป็นอย่างดี ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสามเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นและความสำคัญของการออกจากที่ประชุมเพื่อเดินทางไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติและงานสัมมนา การไม่มีเหตุจูงใจใดให้ต้องฝากบัตรไว้ และการที่ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย รวมถึงความเร่งรีบ อาการเจ็บปวย และความเหนื่อยล้าที่ ทำให้ลืมบัตรไว้นั้น มิใช่เหตุตามกฎหมายที่ จะฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือยินยอมให้ผู้อื่นนำไปใช้แสดงตนและลงมติแทนผู้คัดค้านทั้งสามได้ และมิใช่ข้อยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ไม่อาจใช้อ้างเพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีการฝากหรือยินยอมให้มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทนหรือใช้ยันเพื่อปัดความรับผิดในกรณีที่บุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้แสดงตนและลงมติแทนได้ ส่วนที่อ้างว่าการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนเกิดจากการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีข้อขัดแย้งทางการเมืองและไม่หวังดีนั้น ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านทั้งสามฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนผู้คัดค้านทั้งสามในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นเหตุให้การออกเสียงลงคะแนนไม่สุจริต ละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ทั้งขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่

โดยเฉพาะการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ถือได้ว่าเกิดความเสียหายแก่สภาผู้ แทนราษฎรและปวงชนชาวไทยแล้ว ถือว่าผู้คัดค้านทั้งสามกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สภาผู้แทนราษฎรและปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามจึงเข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฐานไม่รักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ฐานไม่ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนี้ การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามยังเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฐานกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และฐานไม่ปฏิบัติหน้ำาที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และไม่ปฏิบัติ๊ตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ อันจะสะท้อนความสามารถในการบริหารประเทศด้านการเงินและการคลัง กับเสถียรภาพของรัฐบาล และต้องอาศัยมติและเสียงของสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเป็นหลักในการผลักดันร่างกฎหมาย เมื่อผู้คัดค้านทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ย่อมเป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้คัดค้านทั้งสามต้องมอบหรือฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ให้บุคคลที่ได้มีการคบคิดกันมาก่อนแสดงตนและลงมติแทน ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่อยู่ร่วมประชุมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าววาระที่ 2 และวาระที่ 3 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การกระทำในส่วนนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่มีลักษณะร้ายแรง

ส่วนข้อที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า ผู้คัดค้านทั้งสามกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฐานกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมนั้นเห็นว่า ทางไต่สวนไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านทั้งสามได้กระทำการไปในลักษณะที่เข้าไปมีส่วนได้เสียในการเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ผู้คัดด้านทั้งสามปฏิบัติหน้าที่หรือมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบ หรือได้เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งการที่ผู้คัดค้านทั้งสามให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนเพื่อแสดงตนและลงมติแทนนั้น ก็ไม่ปรากฎว่าอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใด ๆ ของบุคคลอื่นจึงรับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของผู้คัดด้านทั้งสามเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมตามคำร้อง

พิพากษาว่า ผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวห์น้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ ๘ ประกอบข้อ ๒๗ วรรคหนึ่ง และข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งในคดีนี้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆกับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามมีกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

คลิกอ่านคำพิพากษาฯ ที่นี่

https://me-qr.com/PePJOd35

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์