“ปิยบุตร” พบ “อัยการ” คดีคลับเฮาส์

15513

วันที่ 9 มกราคม 2567 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางมาตามนัดหมายของพนักงานสอบสวน เพื่อส่งสำนวนและส่งตัวให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาล ในคดีที่ ณฐพร โตประยูร เข้าแจ้งความกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นฯ จากกรณีจัดรายการในแพลตฟอร์มคลับเฮาส์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 โดยเจ้าตัวยืนยันแค่ให้ความรู้เพื่อหาทางออกให้สังคม เรียกร้องพนักงานสอบสวนให้ใช้ดุลพินิจบ้าง

นายปิยบุตร ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ก่อนเข้าพบพนักงานอัยการ ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวที่ตนจัดรายการ เป็นเวลาเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำ ซึ่งตนในฐานะนักวิชาการที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองมา เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่อาจกลายเป็นชนวนลุกลามบานปลาย ฝ่ายหนึ่งอาจเอาไปทำตาม อีกฝ่ายอาจโกรธแค้นจนออกมาเคลื่อนไหว ตนจึงตัดสินใจเลยจัดรายการให้ความรู้ประชาชน

ในรายการวันนั้น ตนได้แสดงความเห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยและในต่างประเทศ และให้ความรู้ว่ามีข้อกฎหมายว่ากันอย่างไร มีการลงโทษกันอย่างไรบ้าง พร้อมให้ความเห็นยืนยันไปว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ม.112 แต่มีความผิดในฐานอื่น และยังยืนยันชัดเจนด้วยว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว โดยทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นไปเพื่อการหาทางออกให้กับสังคม

ปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่าแต่ไม่รู้เหตุใด ณฐพร ได้อ่านหรือได้ฟังหรือไม่ กลับนำกรณีดังกล่าวไปแจ้งความ จนพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกตนให้มารับฟังข้อกล่าวหาในวันที่ 17 เมษายน 2566 จนวันนี้พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งตัวให้อัยการ เพื่อพิจรณาว่าจะสั่งฟ้องไปที่ศาลอาญาหรือไม่ ทั้งนี้ ตนมีข้อสังเกตและคำถาม ว่าตกลงแล้วกระบวนการยุติธรรมทาอาญาของประเทศไทยจะเดินหน้าไปแบบไหน จะให้พนักงานสอบสวนเป็นเพียงแค่คนส่งสำนวนให้อัยการโดยไม่มีดุลยพินิจเลยหรือ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นพนักงานสอบสวน มีหน้าที่ทั้งสอบทั้งสวน ดูพยานหลักฐานห้เต็มที่ ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้ไปเที่ยวแจ้งความตาม สน. แล้วออกหมายเรียก ถึงเวลาก็ส่งตัวให้อัยการ โดยที่สุดท้ายไม่ได้มีดุลยพินิจอะไรเลย

ปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่าเมื่อครั้งที่ตนไปรับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนที่ สน.นางเลิ้ง ตนก็ได้ถามพนักงานสอบสวนว่าหากลองสมมุติให้ท่านเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ถ้าเอาเคสแบบนี้มาทำเป็นโจทย์ข้อสอบท่านจะตอบว่าเข้าองค์ประกอบหรือไม่ ซึ่งร้อยทั้งร้อยแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องตอบว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดกันทั้งนั้น ไม่ต้องรับทราบข้อกล่าวหา ไปจนถึงขั้นทำสำนวนส่งตัวอัยการทั้งนั้น 

“แต่ที่ผ่านมา เมื่อไรก็ตามที่เป็นคดีที่พัวพันกับความมั่นคง คดีที่เกี่ยวกับ ม.112, ม.116 หรือคดีที่พัวพันกับการแสดงออกทางการเมืองเมื่อไหร่ สังเกตได้เลยว่าดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนหายไปเลย ทำตามน้ำกันไปหมด ทั้งที่พนักงานสอบสวนมีดุลพินิจเป็นของตนเองได้ เรื่องไหนไม่เข้าไม่ต้องรับแต่แรก ไม่ต้องทำสำนวนส่งตัวไปอัยการแต่แรก” เลขาธิการคณะก้าวหน้ากล่าว

ปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ตนฉุกคิดขึ้นมาได้ ว่ารัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งหาเสียงได้เคยประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนเคยพูดไว้ว่า ม.112, ม.116 และกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพต่างๆ ไม่ต้องแก้ไขหรือยกเลิก แค่ใช้มาตรการทางการบริหารให้เกิดความยุติธรรมก็เพียงพอแล้ว แต่วันนี้รัฐบาลเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ 6 เดือนแล้ว กลับไม่เคยเห็นพูดเรื่องนี้ แม้จะมีนโยบายเรือธงที่มีข้อจำกัดหลายเรื่องจนไม่ได้ทำก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่เรื่องที่ง่ายมากเช่นนี้ รัฐบาลสามารถสั่งพนักงานสอบสวนให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีมาตรฐานเท่าเทียมกันในทุกคดีได้ หลายเรื่องไม่จำเป็นต้องสั่งฟ้องให้เสียเวลา ยังมีประชาชนมีอีกหลายคนที่ต้องเสียเวลาเพาะคดีแบบนี้ แล้วพอทำแบบนี้ก็เป็นการเปิดทางให้นักร้องหน้าเดิมกันทั้งนั้น มาร้องวนไปวนมากับคนกลุ่มเดิมๆ ด้วยข้อหาเรื่องเดิมๆ แล้วก็จบแบบเดิมๆ 

“ถ้ามีโอกาสได้สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการระทรวงยุติธรรม ช่วยถามทีว่าที่ประกาศกันไว้ว่าจะทำกระบวนการยุติธรรมโดยใช้วิธีการทางการบริหารเข้าไปจัดการ ท่านทำบ้างหรือยัง ผ่านมาเกิน 6 เดือนแล้วยังไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลนี้คิดอ่านอย่างไรในเรื่องแบบนี้ ประชาชนจำนวนมากที่โดนแบบนี้เต็มไปหมดต้องรับภาระ แล้วบอกจะปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่เรื่องแบบนี้ยังมีอยู่เต็มไปหมดมันจะจบได้อย่างไร  อย่างน้อยที่สุดไม่ยากเลย ไม่ต้องไปแก้กฎหมาย ยังไม่ต้องถึงขั้นกฎหมายนิรโทษกรรม เอาแค่ให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจกลั่นกรองหน่อย เรื่องไหนไม่เข้าเอาออกไปเลย จะได้ไม่เสียเวลา” ปิยบุตรกล่าว

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #ปิยบุตรแสงกนกกุล