“พระพุทธชินราช”พระพุทธรูปที่ผู้มีฤทธิ์และกษัตริย์ร่วมกันสร้าง จนกลายเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่สวยงามและศักดิ์สิทธ์ที่สุดในสยาม

1045

อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ

“ พระเกศรัศมียาวเป็นรูปคล้ายเปลวเพลิง เส้นพระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูม เฉกเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยส่วนใหญ่ มีพระอุณาโลมอยู่กึ่งกลางระหว่างพระขนง( คิ้ว) รูปกายทรงอวบมีสังฆาฏิยาวส่วนปลายหยักเป็นลักษณะเขี้ยวตะขาบฝังแก้ว นิ้วมือทั้งสี่ยาวเสมอกัน  ฝ่าเท้าแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยส่วนใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีรูปหล่ออาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์อยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์พระ มีซุ้มเรือนแก้วที่แกะสลักจากไม้สักลงรักปิดทองประดับเบื้องพระปฤษฎางค์ อย่างปราณีตอ่อนช้อยช่วยขับเน้นให้พระวรกายของพระพุทธรูปมีความงดงามยิ่งขึ้น “

                ( รูปพระพุทธชินราช )

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นพุทธลักษณะอันงดงามยิ่งเป็นอันดับต้นๆของพระพุทธรูปสมัยสุขโขทัย ที่เราเหล่าชาวไทยให้ความเคารพและศรัทธา องค์พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

    ประวัติการสร้าง องค์พระพุทธชินราช มีอยู่2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกเป็นตามตำนาน โดยมีตำนานการสร้างองค์พระพุทธรูปในพงศาวดารเหนือกล่าวถึง การหล่อพระพุทธชินราช ว่าได้หล่อขึ้นพร้อมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ “พระพุทธชิน สีห์” และ “พระศรีศาสดา” จึงมีคำกล่าวว่าพระพุทธชินราชท่านมีพระพี่น้องคล้ายกับตำนานของหลวงพ่อโสธร

ตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นพญาลิไทย แห่งกรุงสุโขทัย) ได้โปรดให้มีการสร้างเมืองพิษณุโลกเมื่อสร้างเสร็จ ก็โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้น โดยมีพระมหาธาตุรูปพระปรางค์ สูง 8 วา และพระวิหารทิศ กับ ระเบียงรอบพระมหาธาตุทั้ง 4 ทิศ โปรดให้ ช่างขาวเขลียง (สวรรคโลก) เชียงแสน และหริภุญชัย (ลำพูน) ร่วมกันหล่อพระ ด้วยทองสัมฤทธิ์ จำนวน 3 องค์ สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ โดยได้ทำพิธีเททองหล่อในวัน พฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 ปีเถาะ สัปตศกจุลศักราช 317 (พ.ศ.1498)

พิธีหล่อพระดำเนินไปด้วยความราบรื่นแต่เมื่อกะเทาะหุ่นออกแล้ว โลหะทองกลับติดเป็นองค์พระสมบูรณ์เพียง 2 องค์ คือองค์พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชินราช โลหะทองกลับไม่ติดเต็มพระองค์ จึงทำพิธีหล่อองค์พระพุทธชินราชใหม่อีกถึง 3 ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จ จนครั้งหลังสุด พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกด้วยตั้งพระแน่วแน่อยากทำการหล่อให้สำเร็จจึงตั้งสัจจาธิษฐานแล้วทำพิธีเททองหล่ออีกครั้ง โดยในครั้งนี้ปรากฏว่ามีชีปะขาวปริศนาผู้หนึ่ง  ได้มาช่วยปั้นหุ่น และทำพิธีเททองหล่อพระจนเป็นพระพุทธชินราชที่ออกมาสวยงามไม่มีที่ติ ทีนี้ก็มีเสียงเล่าลือกันกระหึ่มทั่วคุ้งน้ำว่าตาชีปะขาวผู้นั้นคือ เทวดาแปลงมาช่วยหล่อพระ องค์พระพุทธชินราชจึงได้ออกมามีพุทธลักษณะอันงดงามยิ่งกว่าพุทธรูปศิลปสุโขทัยองค์อื่นอยู่หลายขุม ทีนี้พอหล่อออกมาสวยขนาดนี้องค์พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก คงอยากจะประทานรางวัลแล้วชวนไปหล่อพระองค์อื่นต่อแหละจึงให้คนไปตามชีปะขาวมา แต่เมื่อเสร็จพิธีหล่อพระแล้ว ขีปะขาวกลับหายตัวเหมือนล่องหนไม่มีใครพบและหมู่บ้านที่ชีปะขาวหายตัวไปนั้นได้ชื่อว่า “บ้านตาปะขาวหาย” มาจนถึงปัจจุบัน

มาเวอร์ชั่นประวัติศาสตร์กันบ้าง องค์พระพุทธชินราช ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด มีการบันทึกและกล่าวถึงเพียงแค่ในพงศาวดารเหนือ ที่เป็นเอกสารเล่าตำนานเมืองเหนือเรื่องต่าง ๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี พ.ศ. 2350 อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกว่าเป็นผู้สร้างองค์พระพุทธชินราช พร้อมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์คือ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ตอนสร้างเมืองพิษณุโลก

        ( รูปพระพุทธชินสีห์ ชินราช ศรีศาสดา 3 พี่น้อง )

จวบจน พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประวัติการสร้างองค์พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ “ตำนาน พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา” ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้ เอกสารพงศาวดารเหนือเป็นการอ้างอิงทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่คล้ายกัน แต่เพิ่มการสร้างพระเหลือเข้าไป อีกทั้งยังทรงระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้เรียงตามนี้ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาหล่อสร้างในปี พ.ศ. 1498 ส่วนพระพุทธชินราชหล่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1500

ซึ่งตำนานพระเหลือที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มนั้นมีใจความว่าหลังจากการหล่อพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 3 องค์เรียบร้อย ทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ สามารถนำมาหล่อเป็น พระพุทธรูปเล็ก ๆ อีกองค์หนึ่งมีนามว่า “พระเหลือ” แต่ๆๆยังไม่หมดทองยังเหลือจากการหล่อพระเหลือจนสามารถหล่อเป็นพระสาวกของพระเหลือได้อีกสององค์ ( คิดดูว่าทองเยอะขนาดไหนเนี่ย )  อิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองเพื่อใช้ในการหล่อพระนั้นก็นำเอามารวมกันก่อเป็นชุกชีได้สูงถึงสามศอก ตรงตำแหน่งที่หล่อองค์พระพุทธชินราชและได้ปลูกต้นมหาโพธิ์ตรงชุกชี 3 ต้น เรียกว่า “โพธิ์สามเส้า” อีกทั้งยังได้สร้างวิหารน้อยขึ้นระหว่างต้นโพธิ์ อัญเชิญพระพุทธรูปพระเหลือกับพระสาวกเข้าประดิษฐานในวิหารนั้น เรียกว่า “วิหารหลวงพ่อเหลือ” ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราช

โดยพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ ได้ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ณ ขณะนั้น

พระพุทธชินราช ประดิษฐาน ณ พระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตก

พระพุทธชินสีห์ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ

พระศรีศาสดาประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศใต้

พระเหลือ ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย

จนล่วงปี พ.ศ.2372 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้เสด็จไปเยือนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทรงเห็นว่าตัววิหารด้านทิศเหนือมี ความชำรุดทรุดโทรมหนัก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ใน พระนคร โดยได้อัญเชิญมาไว้ภายในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ วัดบวรฯ ต้องรื้อมุขด้านหลังออก จึงได้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถคู่กับพระสุวรรณเขต พระประธานองค์เดิมในพระอุโบสถ ทำให้พระอุโบสถในวัดบวรนิเวศมีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานคู่กันสององค์มาจนถึงปัจจุบันนี้

ขณะที่ พระศรีศาสดา ก็ถูกอัญเชิญมาที่พระนครเช่นกัน โดยเจ้าอาวาสวัดบางอ้อย ช้าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ได้อัญเชิญพระศรีศาสดาล่องแพไปประดิษฐานที่วัด ต่อมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้อัญเชิญพระศรีศาสดาไปประดิษฐานที่วัดประดู่ ฉิมพลี แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า พระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปสำคัญ เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามหลวง อีกทั้งยังเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นร่วมสมัยเดียวกันกับพระพุทธชินสีห์ พระองค์จึงทรงให้ อัญเชิญพระศรีศาสดามาไว้ที่พระวิหารในวัดบวรนิเวศฯ อีก 1 องค์

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธชินราชจำลองขึ้น ใน พ.ศ.2444 ณ บริเวณโพธิ์ 3 เส้า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก และอัญเชิญ พระพุทธชินราชจำลองลงแพแล้วล่องลงมายังกรุงเทพมหานครส่วนองค์จริงยังประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารใหญ่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จวบปัจจุบัน

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าองค์พระพุทธชินราช แม้จะเป็นน้องเล็กเพราะสร้างทีหลังแต่ความสำคัญ ความสวยงามและความศักดิ์สิทธิ์กลับโดดเด่น เพราะหากอิงจากตำนานก็อาจอนุมานได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่ผู้มีฤทธิ์สร้างอย่างตั้งใจ จนกลายเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่มีคนนำไปจำลองเพื่อบูชาและปกป้องคุ้มภัย หวังในด้านให้ลาภผลมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ วัตถุมงคลที่จำลององค์พระพุทธชินราชที่มีพุทธคุณและชื่อเสียงโดดเด่น เช่น พระพุทธชินราชอินโดจีนสมัยสงครามโลก ที่ถือเป็นวัตถุมงคลเบอร์ต้นๆที่ไปไกลในเรื่องราคา และความหายาก ตัวผู้เขียนเองยอมรับว่าอยากได้ไว้ใช้สักองค์แต่ติดที่กำลังทรัพย์และไม่มีความเชี่ยวชาญในการดูของแท้ เลยต้องหักใจหันหารุ่นอื่น ที่จะกล่าวถึงในคราวหน้า ส่วนคราวนี้ขออนุญาตนำข้อมูลการสร้างพระพุทธชินราช รุ่น อินโดจีน โดยสังเขปมาฝากกันครับ

            ( รูปพระพุทธชินราช รุ่น อินโดจีน )

    ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ เกิดสงครามกระจายทั่วภูมิภาคอินโดจีน หลายประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม รวมถึงประเทศไทย ในภาวะที่บ้านเมืองสั่นคลอนจิตใจของคนในชาติย่อมสั่นไหวตามไป สิ่งที่เป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยว จิตใจของคนไทยก็คือ “สิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองและวัตถุมงคลคุ้มกาย” โดยเฉพาะบรรดาทหารหาญที่ต้องรบอยู่ในสนาม พระเครื่อง ถือเป็นหนึ่งในมงคลวัตถุคู่กายที่หลายคนต้องพกพาหาติดตัว

ด้วยเหตุนี้เอง  “พุทธสมาคมแห่ง ประเทศไทย” จึงตัดสินใจดำเนินงานสร้าง พระพุทธชินราชจำลองขนาดบูชาขึ้นมาและยังจัดสร้าง พระพุทธชินราชขนาดเล็ก แบบรูปหล่อสำหรับห้อยคอ ซึ่งเดิมเป็นความตั้งใจของ 2 สมาคมพุทธฯ คือ “พุทธธรรมสมาคม” และ “ยุวพุทธศาสนิกธรรม” ที่จะดำเนินการแต่ต้องค้างไว้ตั้งแต่ปี 2483 เพราะประเทศอยู่ในภาวะสงคราม จนเมื่อสงครามอินโดจีนสงบลง ในปี 2485 พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย จึงเดินหน้างานสร้าง พระพุทธชินราช อย่างจริงจัง พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี 2485 ได้ประกอบพิธี เท ทองหล่อ ที่วัด พระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ในวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 คณะกรรมการพุทธสมาคมได้มากราบทูล ขอพระเมตตาจาก ท่านเจ้า ประคุณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศน เทพวราราม ในเรื่องการประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระองค์ทรงพระเมตตาให้คณะกรรมการพุทธสมาคมนำ พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระ อุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2485 โดยมีท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหา เถร) เป็นองค์ประธาน และท่านเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) เป็นแม่งาน พร้อมทั้งได้ ทำพิธี เททองหล่อพระตามตำราการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ของวัดสุทัศน์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ พิธีพุทธาภิเษกที่จัดขึ้นในเวลานั้นถือว่าเป็นพิธีใหญ่ เพราะพระเกจิคณาจารย์ทั่วประเทศได้เมตตามอบแผ่นยันต์ พร้อมทั้งเดินทางมาร่วม เมตตาอธิษฐานจิต กันอย่างล้นหลาม

การสร้างพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี 2485 พล.ร.ต.หลวง ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกพุทธสมาคมและคณะกรรมการ ( ณ ขณะนั้น ) ได้กำหนด ไว้ให้สร้างเพียงแค่ 2 แบบ คือ แบบพระบูชา และ พระเครื่อง โดยได้ กรมศิลปากรเข้ามาช่วยดูแลการหล่อและออกแบบพิมพ์พระ โดยพระบูชา ที่จัดสร้างในคราวนี้ได้จำลองมาจากองค์พระพุทธชินราช วัดศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้กรรมวิธีการหล่อเป็นพระขัดเงา โดยพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในครั้งนี้มีขนาดหน้าตักค่อนข้างใหญ่ ก่อนจะส่งไปให้ทุกจังหวัด ทั่วไทยหาสถานที่ให้ประชาชนได้สักการบูชา และถ้าประชาชนคนไหน ปรารถนา อยากได้ พระบูชาไว้เป็น ของส่วนตัว ต้องแจ้งความจำนงเป็น ลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้ง ส่งเงินค่าจัด สร้างองค์ละ 150 บาท ไปให้คณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้ช่างจัดสร้าง โดยจะจัดสร้างตามจำนวนที่แจ้งความจำนงไว้เท่านั้น

ในส่วนของ พระเครื่อง คณะผู้ดำเนินงานได้จัดสร้าง ๒ แบบ คือ แบบรูปหล่อและ แบบเหรียญปั๊ม โดยรูปหล่อ จัดสร้างประมาณ 90,000 องค์ เป็นเนื้อโลหะผสม โดยมีทองเหลือง เป็นหลัก แต่เนื่องจากจำนวนการจัดสร้างมากทำให้พระเกิดความไม่สมบูรณ์ค่อนข้างเยอะทางผู้จัดสร้างเลยตัดสินใจ คัด เหลือ พระสภาพสมบูรณ์ เพียง 84,000 องค์ ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากับพระธรรมขันธ์

พระเครื่องพระพุทธชินราชแบบรูปหล่อจะมีโค้ดใต้ฐาน ตอกเป็นรูปตรา “ธรรมจักร” และ “ยันต์อกเลา” โดยได้ลอกแบบ มาจากรูปยันต์อกเลาที่ติดอยู่หน้าบานประตู พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  จ. พิษณุโลก พระพุทธชินราชแบบรูปหล่อนี้ในตอนแรกได้หล่อ “อกเลานูน” ติด ไว้บริเวณใต้ฐานพระ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นก้นเรียบ แล้วใช้ตอกโค้ดแทนจนครบจำนวน ดังนั้นพระในส่วนที่เกินจาก 84,000 องค์ จึงไม่ได้ตอกโค้ด และได้นำออกให้ เช่าบูชาองค์ละ 1 บาท ถ้าองค์ไหนที่สภาพ สวยสมบูรณ์ราคาจะอยู่ที่ 1 บาท 50 สตางค์ ( ราคา ณ ตอนนั้น ) สำหรับพระพุทธชินราชแบบปั๊มได้ทำเป็นเหรียญ ลักษณะคล้าย ใบเสมา ด้านหน้าเป็น รูปพระพุทธชินราชมีซุ้มเรือนแก้ว ส่วน ด้านหลัง เป็นรูปยันต์อกเลา จัดสร้าง เนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 3,000 เหรียญ ราคาค่าบูชาเหรียญละ 50 สตางค์ ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในเหรียญยอดนิยม พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ทำพิธีปลุกเสกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 ที่วัดสุทัศน์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช แพ เป็นองค์ประธาน และท่านเจ้าคุณศรี สนธิ์ เป็นแม่งาน และมี พระเกจิคณาจารย์ผู้ทรงพลังเข้มขลังแห่งจิตทั่วประเทศจำนวน 108 รูป นั่งปรก ซึ่งถ้าจะกล่าวรายนามคณาจารย์ทั้ง108 รูป ว่ามีใครบ้างก็เกรงจะยาวเกินไปแต่อยากให้ทราบว่าบรรดาเกจิคณาจารย์ที่มาร่วมงานทุกรูปล้วนเป็นผู้มีพลังจิตตานุภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จึงสามารถรับประกันความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธชินราช รุ่น อินโดจีน เป็นอย่างดี

 คราวหน้ามาลุ้นกัน ว่าจะนำเสนอองค์ไหนหรือตำนานอะไรครับ

                            เขียนโดย ต้น คนชอบพระ

            ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ

ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ

สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น