“เศรษฐา”เดินหน้าเก็บแต้ม กล้าตีกลับขึ้นค่าแรงจิ๊บจ๊อย กระตุ้น ขรก.ทำงานเชิงรุก       

605


            นับแต่นายเศรษฐา ทวีสิน  นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากว่า 3 เดือน ภาพนักธุรกิจที่เชื่อมั่นในตัวเองในเชิงบริหารเริ่มฉาวแววให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายต่างประเทศเพื่อเชิญชวนนักธุรกิจมาลงทุนในประเทศ ภาพเดินสายต่างจังหวัดพบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน รวมถึงภาพที่กล้าตำหนิข้าราชการทำงานอืดอาด ไม่ว่าจะเป็นการจี้ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เร่งสะสางคดีหมูเถื่อนที่ค้างคานับแรมปี

               หรือการตำหนิผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มัวไปโรดโชว์แถวยุโรป ให้หันมาทำงานการท่องเที่ยวเชิงรุกในประเทศระหว่างเดินทางไปตรวจราชการที่จ.กาญจนบุรี หลังพบปัญหานักท่องเที่ยวไปเที่ยวแล้วกลับภายในวันเดียว มากกว่าที่จะพักค้างคืน เพื่อกระตุ้นรายได้ในจังหวัด รวมถึงภาพที่ก่อนจะเดินทางไปทัวร์ต่างประเทศ เรียกข้าราชการหลายหน่วยงานฝากการบ้านให้ทำหรือจี้ให้สะสางงานที่ล่าช้าขยับเดินหน้า

         แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามว่าสร้างภาพ แต่ถ้ามองอย่างเป็นธรรมจะพบว่าภาพลักษณะนี้ไม่ค่อยได้เห็นในรอบ 8 ปี ที่ผ่านมาจากการขับเคลื่อนของนายเศรษฐา สามารถเก็บคะแนนสะสมแต้มความนิยมให้กับรัฐบาลได้มากโข แต่ที่น่าจะเก็บแต้มได้แบบเต็มไม้เต็มมือ น่าจะเป็นการตีกลับกรณีกระทรวงแรงงานปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ด้วยการสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำไปพิจารณาใหม่ เพราะปรับแค่จิ๊บจ๊อย

    โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นายเศรษฐาตำหนิว่า ขึ้นแค่ 2 บาท ยังไม่สามารถซื้อไข่ไก่ได้ 1 ฟองเลย ปรากฏการณ์นี้แทบจะไม่ได้เห็นในยุคที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งบัลลังก์นายกรัฐมนตรีมากว่า 8 ปี

   โดยนายเศรษฐา อธิบายเหตุผลที่ตีกลับว่า ค่าแร่งขั้นต่ำไม่ได้ปรับขึ้นมานานมากแล้ว ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวันประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำ บางจังวัดขึ้นแค่ 7-12 บาท ซึ่งน้อยเกินไป รัฐบาลพยายามยกระดับให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ประชาชนมีรายได้สูง

   ”ที่ผ่านมาผมเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงบริษัทใหญ่มาลงทุนเปิดตลาดการค้าใหม่ในต่างประเทศ รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ รัฐบาลพยายามทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและอีกหลายอย่าง ซึ่งนายจ้างไประโยชน์ จึงขอวิงวอนว่าพี่น้องแรงงานคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะยอมให้แรงงานชาวไทยต่ำติดดินแบบนี้หรือ”นายเศรษฐาบอกและว่าประเทศใกล้เคียงเช่น สิงคโปร์  เกาหลีใต้ ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 1,000 บาท จะยอมให้ผู้ใช้แรงงานของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 หรือ 3 ของโลกหรือ

  ”หากปรับค่าแรงแล้วกลัวจะมีการย้ายฐานนั้นเป็นแค่วาทกรรม ไม่มีใครย้ายเพราะค่าแรงขึ้นจาก 300 เป็น 400 บาท รัฐบาลยังมีมาตรการเสริมด้านภาษี มีระบบสาธารณสุขที่ดี โครงสร้างพื้นฐานดี เชื่อว่าไม่มีใครย้ายฐาน”นายกรัฐมนตรีระบุและว่าค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้ต้องหารือร่วมกันกับคณะกรรมการไตรภาคีถึงความเหมาะสมกับภาคแรงงาน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างได้ประโยชน์กันไปบ้างแล้ว ขอความเห็นใจให้กำลังสำคัญอย่างแรงงานในภาคการผลิตด้วย เพราะสุดท้ายภาคการผลิตมีกำลังซื้อ เศรษฐกิจภาพรวมจะดีขึ้นตามไปด้วย

    การขยับของนายเศรษฐา จัดว่าได้ใจผู้ใช้แรงงานแบบเต็มๆผลจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับฝีมือของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าจะหาช่องทางคุยกับคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ นายจ้าง และผู้ใช้แรงงาน ว่าจะดำเนินการได้แค่ไหน ถ้าจะอ้างว่าการขึ้นค่าแรงต้องเดินตามมาตรการองค์กรแรงงานโลก ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ค่าแรงคงขยับยาก

    ดังนั้นควรจะแหกฎบ้าง ไม่ใช่เดินตามทุกอย่าง เพราะกฎกติกาองค์กรระดับโลกมักบังคับใช้กับประเทศที่ไม่ยากสู้ หากจะสู้หรือแหกกฎองค์กรระดับโลกก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างมติสหประชาชาติ ประเทศไหนที่ไม่อยากทำตามก็แหกกฎให้มามากแล้ว ผลการตีกลับให้ไปปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่จะเป็นตามที่นายเศรษฐา คาดหวังหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของนายพิพัฒน์ แต่เชื่อว่าน่าจะทำได้เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเก็บแต้มให้กับพรรคภูมิใจไทยได้เช่นกัน

  ดังนั้นเมื่อมองบริบทโดยรวมที่นายเศรษฐาแสดงออกมาไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ข้าราชการเข้าเกียร์เดินหน้าทำงานเพื่อประเทศชาติมากขึ้น หรือการตีกลับให้ไปพิจารณาการปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ถือเป็นนิมิตรอันดีว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ย่อมจะดีกว่านายกรัฐมนตรีที่มากับอำนาจเผด็จการแล้วมาซ่อนรูปกับการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจ

    เพราะนายกรัฐมนตรีประเภทนี้นิยมชมชอบจะนั่งบนหัวประชาชนมากกว่านั่งในใจประชาชนคนยากไร้ !!!