กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนค่าฝุ่นสูงขึ้นระดับสีแดงในหลายพื้นที่ พร้อมเผยผลอนามัยโพล ประชาชนร้อยละ 66 มีความกังวลว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว ย้ำ กลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เวลา 07.00 น. ปริมาณ PM2.5 วัดได้ 9.0 – 82.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพบว่าเกินมาตรฐานในทุกภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานการณ์ PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ รวม 27 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และยโสธร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และพบ PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ 2 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และเวลา 12.00 น. ยังพบค่า PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) 2 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ซึ่งสาเหตุเกิดจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร การคมนาคม ประกอบกับสภาพอากาศปิด อัตราการระบายอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในบรรยากาศ จนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ผลสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มีผู้ตอบจำนวน 1,303 คน พบว่ามีความกังวลว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว ร้อยละ 66 โดยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลก่อน ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว ร้อยละ 38 ผู้ทำงานกลางแจ้ง ร้อยละ 19 และ เด็กเล็ก ร้อยละ 14 ประชาชนมีการเตรียมตัวดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ด้วยการสำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น ร้อยละ 70 ทำความสะอาดบ้าน ล้างแอร์ และพัดลม ร้อยละ 61 และ ทำความเข้าใจค่าสี PM 2.5 และคำแนะนำการปฏิบัติตน ร้อยละ 49 โดยมาตรการด้านสาธารณสุข กรณี PM 2.5 ที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพ ร้อยละ 40 การเฝ้าระวังสถานการณ์และแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ ร้อยละ 18 และการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อควบคุมจัดการปัญหา PM 2.5
“สำหรับกลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก เนื่องจากหายใจเร็ว พฤติกรรมของเด็กชอบเล่นในที่กลางแจ้ง มีโอกาสรับฝุ่นปริมาณมาก สำหรับผู้สูงอายุ พบว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
เพิ่มเป็น 1.5 เท่า หญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 อายุครรภ์ 24 – 42 สัปดาห์ ถ้าได้รับฝุ่นมลพิษ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืด ซึ่งผู้ป่วยโรคหอบหืด จะมีความไวต่อการกระตุ้นจาก ฝุ่น PM2.5 หรือสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ ทำให้มีสมรรถภาพปอดลดลง และเกิดอาการกำเริบได้ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ควรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น ควรเป็นหน้ากากอนามัยปกติ สำหรับหน้ากาก N95 หากต้องการใส่เพื่อป้องกันฝุ่น ไม่แนะนำให้ใส่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะหน้ากาก N95 ถูกออกแบบมาให้แนบสนิทกับใบหน้า ทำให้ต้องออกแรงหายใจมากขึ้น เมื่อใส่เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก เมื่อยล้า หรือปวดศีรษะได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว