วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) และนายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมสามัญประจำปีและประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายประสานงาน ด้านการติดตามทรัพย์สินคืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 (8th ARIN-AP Annual General Meeting and Workshop) ภายใต้หัวข้อ Synergy for Effective Confiscation of the Proceeds of Crime ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเรเนอร์ซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยในฐานะสมาชิกก่อตั้งของเครือข่าย ARIN – AP ได้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่าย ARIN-AP วาระปี พ.ศ. 2566 (ครั้งที่ 8) ต่อจากประเทศนิวซีแลนด์
ในการนี้ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวย้ำถึง ความสำคัญของ การติดตามคืนทรัพย์สินและความร่วมมือระหว่างประเทศที่นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญและถือเป็น สิ่งที่มิอาจมองข้ามได้ อันสะท้อนถึงความเสี่ยงจากกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายซึ่งส่งผลต่อ ความมั่นคงและความปลอดภัยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รายได้จากการทุจริต การฟอกเงินและอาชญากรรมทางการเงินอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความเสื่อมสลายของหลักนิติรัฐ ประกอบกับในปัจจุบันกลุ่มเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติได้อาศัยความซับซ้อนทางกฎหมายและความแตกต่างของมาตรการการกำกับดูแลในการก่ออาชญากรรม ด้วยเหตุนี้ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกรอบกฎหมาย เพื่อติดตามคืนทรัพย์สินของแต่ละประเทศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่จะสามารถต่อสู้กับกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายได้เพียงลำพัง
นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด ได้กล่าวว่า ARIN – AP มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศสมาชิกในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืน จากต่างประเทศ โดย ARIN – AP ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2556 และปีนี้นับเป็นปีที่ 10 ของการจัดตั้ง ARIN – AP ซึ่งประเทศสมาชิกประสานความร่วมมือกันภายใต้แนวคิด Synergy for Effective Confiscation of the Proceeds of Crime การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญในการเอาชนะความท้าทายจากความแตกต่างของกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตามทรัพย์สินในแต่ละประเทศ รวมทั้งร่วมกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างมีประสิทธิภาพ
ARIN-AP จัดตั้งขึ้นเพื่อประสานงานด้านการติดตามทรัพย์สินคืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการติดตามทรัพย์สินคืนจากต่างประเทศ (Asset Recovery) ด้านการยึดอายัด ริบทรัพย์สิน การบริหารจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดอายัด การคืน ตลอดจนการแบ่งปันทรัพย์สินระหว่างประเทศที่มีเขตอำนาจศาลต่างกัน โดยสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงาน ปปง. เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย ARIN-AP ของประเทศไทย มีสำนักเลขาธิการของ ARIN-AP อยู่ที่ สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ปัจจุบัน ARIN – AP มีสมาชิกจำนวน 28 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน ศรีลังกา กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ไต้หวัน อินเดีย หมู่เกาะคุ๊ก (Cook Islands) ปากีสถาน เมียนมา มองโกเลีย คาซัคสถาน เวียดนาม เกาหลีใต้ ปาปัวนิวกินี ปาเลา เนปาล เตอร์กิสถาน ตองกา ฟิลิปปินส์ ตูวาลู มัลดิฟส์ ประเทศไทย และมีหน่วยงานระหว่างประเทศหรือเครือข่ายเป็นผู้สังเกตการณ์ อาทิ Interpol FATF
การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพและความพร้อมเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมาย กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาและกฎหมายฟอกเงิน เพื่อยกระดับความร่วมมือในกลุ่มเครือข่ายผู้บังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรการดำเนินการติดตามทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถตัดวงจรอาชญากรรมและลดแรงจูงใจในการก่ออาชญากรรมจากการดำเนินการ กับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ในการปราบปรามอาชญากรรมโดยพุ่งเป้าไปที่แหล่งเงินทุนในการกระทำความผิด นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ หารือกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ความร่วมมือการยึดอายัด และการติดตามเพื่อจัดการกับประเด็นท้าทายอื่นๆ อาทิ การยึดอายัดและบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลและการริบทรัพย์ตามมูลค่า อีกด้วย