ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “มาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม 2561 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศกระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,268 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับมาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูล ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความน่าเชื่อถือของมาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทย พบว่า ประชาชน ร้อยละ 8.28 ระบุว่า มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ร้อยละ 66.40 ระบุว่า มีความน่าเชื่อถือมาก โดยผู้ที่ระบุว่า เชื่อถือมาก – มากที่สุด ได้ให้เหตุผลว่า มาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทย มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน รวดเร็ว สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา และมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ร้อยละ 20.27 ระบุว่า ไม่มี ความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 2.76 ระบุว่า ไม่มีความน่าเชื่อถือเลย โดยผู้ที่ระบุว่า ไม่น่าเชื่อถือ – ไม่เชื่อถือเลย ให้เหตุผลว่า มาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทยยังไม่มีความรัดกุมเท่าที่ควร ไม่มีมาตรฐาน ยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และร้อยละ 2.29 ระบุว่าไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ระดับความเร่งด่วนในการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติพบว่า ประชาชน ร้อยละ 30.76 ระบุว่า เร่งด่วนที่สุด ร้อยละ 55.60 ระบุว่า เร่งด่วน โดยผู้ที่ระบุว่า เร่งด่วน – เร่งด่วนที่สุด ได้ให้เหตุผลว่า จะได้มีแนวทางการแก้ไข และป้องกันได้ทันเหตุการณ์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ร้อยละ 12.06 ระบุว่า ไม่เร่งด่วน ร้อยละ 0.79 ระบุว่า ไม่เร่งด่วนเลย โดยผู้ที่ระบุว่า ไม่เร่งด่วน – ไม่เร่งด่วนเลย ให้เหตุผลว่า กฎ ข้อบังคับมีอยู่แล้วแต่ไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่บางส่วน ระบุว่า ยังมีวาระอื่น ๆ ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนกว่านี้ และร้อยละ 0.79 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเข้าช่วยเหลือเหตุอุบัติภัย พบว่า ประชาชน ร้อยละ 37.22 ระบุว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด ร้อยละ 57.18 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก โดยผู้ที่ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก – มากที่สุด ได้ให้เหตุผลว่า ปฏิบัติงาน ได้ดี รวดเร็ว และเต็มความสามารถ เพราะเจ้าหน้าที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถเฉพาะอยู่แล้ว ร้อยละ 4.50 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 0.55 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย โดยผู้ที่ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพ – ไม่มีประสิทธิภาพเลย ให้เหตุผลว่า ไม่มีความพร้อม ล่าช้าในการปฏิบัติงาน ขาดเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย และร้อยละ 0.55 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงมาตรการป้องกันอุบัติภัยตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.68 ระบุว่า มีการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้การเอาตัวรอดเมื่อประสบภัย รองลงมา ร้อยละ 51.42 ระบุว่า เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตามสถานที่ท่องเที่ยว ร้อยละ 49.84 ระบุว่า ติดป้ายเตือนอุบัติเหตุ/อุบัติภัย ร้อยละ 23.90 ระบุว่า จัดทีมสำรวจศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติเพื่อเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ร้อยละ 23.42 ระบุว่า จัดทำแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยว ร้อยละ 12.46 ระบุว่า จำกัดอายุนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ร้อยละ 2.21 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และบทลงโทษที่ชัดเจน ปิดการให้บริการในช่วงที่อันตราย มีการติดตั้งระบบเตือนภัย มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าจะเชื่อและปฏิบัติตามหรือไม่ และร้อยละ 1.18 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ