วันนี้ (วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2566) พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน และ พันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แถลงความคืบหน้าในการดำเนินการในคดีพิเศษ จำนวน 3 คดี ดังนี้
1. คดีพิเศษที่ 59/2566 กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 161 ตู้ ปริมาณ 4,025 ตัน
เนื่องจากการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวน่าเชื่อว่ามีข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีความเห็นให้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดย ร้อยตำรวจเอก ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว จำนวน 16 แฟ้ม (3 ลัง) ส่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบ เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ของวันนี้ และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนไปยังการนำเข้าซากสุกรอีกจำนวน 2,385 ตู้ ปริมาณ 59,625 ตัน ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นน่าเชื่อว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะเป็นขบวนการองค์กรอาชญากรรมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของเกษตร โดยองค์กรอาชญากรรมดังกล่าวประกอบด้วย 3 กลุ่ม นายทุน ข้าราชการการเมือง และอดีตข้าราชการ
2. คดีพิเศษที่ 57/2566 กรณี การทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเป็น คดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778 ล้านบาท
ขณะนี้ได้ดำเนินการสอบสวนใกล้เสร็จสิ้น โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบปากคำผู้กล่าวโทษ จำนวน 5 ราย สอบปากคำพยานบุคคลรวมจำนวน 157 ราย แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และได้ออกหมายจับนายชนินทร์ เย็นสุดใจ เพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้นำส่งทรัพย์สินจากการยึด/อายัดไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อดำเนินการในทางทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
3. คดีพิเศษที่ 66/2566 กรณีหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ในระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 – 10 พฤศจิกายน 2565 (ช่วง pre – open) มีกลุ่มบุคคลรวม 32 ราย ร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 800,000,000 บาท
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบปากคำผู้กล่าวหา คือ สำนักงาน ก.ล.ต. ผู้รับมอบอำนาจ และบริษัทหลักทรัพย์ 10 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีจำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนดาโอ จำกัด บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท อินโนเวสท์เอ็กซ์ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด บริษัท หลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ 2023 จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาจำนวน 4 ราย สอบปากคำพยาน รวม 77 ราย ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พยานที่ยืนยันความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ ได้ส่งข้อมูลทรัพย์สินให้สำนักงาน ป.ป.ง. ได้ทำการอายัดบัญชีทรัพย์สิน 34 รายการ รวมเป็นเงินประมาณ 4 พันล้านบาท และนายกรัฐมนตรีได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการสอบสวนกลางมาปฏิบัติหน้าที่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อช่วยเหลือในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ โดยมีจะมีการประชุมร่วมกันในสัปดาห์หน้านี้