ตำรวจ ปอท. เปิดปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุนจีน ปลอมสารพัดเว็บ หลังกล้าล้วงคองูเห่าปลอมเพจตำรวจสอบสวนกลางหลอกเงินเหยื่อซ้ำ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 17 พ.ย. ที่ ชั้น 2 อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.2 บก.ปอท. พ.ต.อ.ปัถย์ภวิศ วงษ์พินิจ ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนฯ บก.ปอท. พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ปอท. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมสารพัดเว็บ หลังกระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 5 จุด ในพื้นที่ ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร, นนทบรี, สมุทรสาคร, เชียงราย, สุราษฎร์ธานี และสระแก้ว
จากปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องหาขบวนการดังกล่าวได้จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย นายฉาง อายุ 35 ปี สัญชาติจีน น.ส.ฤดีฯ อายุ29 ปี นายเอกณัฏฐ์ อายุ 43 ปี นายเอกชัย อายุ 40 ปี นายวันดี อายุ 26 ปี สัญชาติกัมพูชา ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันหลอกลวงโดยการ นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สมคบฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน” พร้อมตรวจยึดของกลาง และ ทรัพย์สินคอมพิวเตอร์ 7 เครื่องโทรศัพท์ 10 เครื่องบัญชีธนาคาร 46 เล่ม รถยนต์หรู 7 คัน รถจักรยานยนต์ 2 คัน โฉนดที่ดิน 2 ฉบับ บัตร ATM 17 ใบ เงินสด 8,688,590 บาท และ ของมีค่าอื่นๆ อีก 79 รายการรวมมูลค่ากว่า 83 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ตรวจพบ มีกลุ่มมิจฉาชีพปลอมเพจเฟซบุ๊กของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ หน่วยงานอื่นๆในสังกัด แล้วนำไปหลอกลวงเงินประชาชน โดยแผนประทุษกรรมของมิจฉาชีพกลุ่มนี้จะใช้วิธียิงแอดโฆษณาผ่านเว็บไซต์สืบค้นข้อมูล Google Ads เมื่อมีประชาชนค้นหาคำว่า “แจ้งความออนไลน์” เว็บไซต์ปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นจะแสดงขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ
เมื่อผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพกลุ่มอื่นหลอกเงินมาหลงเชื่อทำการเพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ที่มีการระบุไว้ในภายเว็บไซต์ เพื่อจะรับคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่จะแจ้งความ กลุ่มคนร้ายจะสวมรอยเป็นแอดมิน พูดคุยสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะทำทีให้ผู้เสียหายติดต่อพูดคุยกับบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นทนายความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยจะให้คำปรึกษา ชี้แนะ พร้อมทั้งให้ผู้เสียหายส่งหลักฐานเรื่องที่ต้องการแจ้งความไปให้
พล.ต.ต.อธิป กล่าวเสริมว่า จากนั้นคนร้ายที่อ้างเป็นทนายความจะส่งเรื่องต่อไปยังฝ่าย IT โดยฝ่าย IT จะอ้างตัวต่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และแจ้งกับผู้เสียหายว่าเงินที่ผู้เสียหายถูกโกงหรือถูกหลอกไป ได้ถูกนำไปฟอกในเว็บการพนันนออนไลน์ต่างประเทศ พร้อมกับนำแผนผังเส้นทางการเงินที่ทำปลอมขึ้นมาส่งให้ผู้เสียหายดู ก่อนอ้างว่า สามารถนำเงินกลับคืนมาได้ โดยใช้วิธีการแฮกเว็บการพนันดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ คนร้ายจะให้ผู้เสียหายทำการสมัครสมาชิกและโอนเงินไปที่เว็บพนันดังกล่าวซึ่งเป็นเว็บปลอมที่ทำขึ้นมา จากนั้นคนร้ายจะให้ผู้เสียหายเล่นการพนันตามที่คนร้ายบอก อ้างว่าเป็นกลวิธีการแฮกระบบ เอาเงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย
“จากนั้นคนร้ายจะทำทีอ้างว่าแฮกระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมยอดเงินในบัญชีเว็บไซต์การพนันของผู้เสียหายเพิ่มขึ้น เมื่อเห็นว่าเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปเพิ่ม อ้างว่าจะได้แฮกเงินคืนให้ได้มากกว่าเดิม แต่จนท้ายที่สุดแล้วผู้เสียหายก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ก่อนจะถูกกลุ่มคนร้ายตัดขาดการติดต่อเชิดเงินหนีหายไป กลายเป็นถูกหลอกเงินซ้ำเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าภายในระยะเวลา 15 วัน มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้กลุ่มคนร้ายมากกว่า 1,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท” ผบก.ปอท. กล่าว
พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่า เว็บไซต์ปลอมดังกล่าวมีการใช้ IP-Address ประเทศกัมพูชา ก่อนเช่าบริการเซิร์ฟเวอร์ภายในประเทศไทย จึงเข้าทำการตรวจค้นบริษัทที่ให้บริการเช่าเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว พบฐานข้อมูลเว็บไซต์ที่ใช้และเคยใช้ในการฉ้อโกงออนไลน์ในลักษณะชักชวนให้ลงทุนและซื้อสินค้าจำนวนมาก รวมทั้งเว็บไซต์ที่ทำปลอมกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อีก 3 เว็บไซต์ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีการปลอมเว็บไซต์ทั้งหน่วยงานรัฐ อาทิ ตำรวจสอบสวนสวนกลาง, DSI, ตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) และ หน่วยงานเอกชน, องค์กรต่างๆที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงเว็บไซต์หลอกลงทุนต่างๆ รวมกว่า 133 เว็บไซต์
“ปัจจุบันพบยังมีการเปิดใช้งานอยู่จำนวน 98 เว็บไซต์ แบ่งเป็นเว็บพนันออนไลน์ 16 เว็บไซต์, หลอกสั่งซื้อสินค้า 9 เว็บไซต์, เว็บเงินกู้ 6 เว็บไซต์, เว็บลงทุนคริปโต 6 เว็บไซต์, เว็บสายการบินปลอม 3 เว็บไซต์, ติดตั้งแอปหลอกลวง 3 เว็บไซต์, เว็บหลอกสมัครงาน 1 เว็บไซต์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการปิดไปแล้วจำนวน 10 เว็บไซต์ “
พ.ต.ท.นิธิ กล่าวว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า กลุ่มคนร้ายจะใช้บัญชีม้าในการรับโอนเงินจากผู้เสียหาย แล้วถ่ายเทเงินไปยังบัญชีม้าแถวต่างๆ ก่อนแปลงเป็นเหรียญสกุลเงินดิจิทัลคริปโตเคอร์เรนซี ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ แล้วถ่ายเทไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลต่างๆ เพื่อเลี่ยงการถูกจับกุม ก่อนจะทำการส่งต่อไปยังกระเป๋าที่เป็นของระดับสั่งการหรือนายทุนต่อไป โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย.66 จนถึงปัจจุบัน บัญชีม้าและกระเป๋าเงินดิจิทัลต่างๆ ในกลุ่มของคนร้ายมียอดเงินหมุนเวียนมากกว่า 7,000 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับคนร้ายในขบวนการ แบ่งเป็น กลุ่มพนักงาน, กลุ่มโปรแกรมเมอร์, กลุ่มฟอกเงิน และกลุ่มระดับสั่งการหรือนายทุน จำนวน 12 ราย ประกอบด้วยคนไทย 8 ราย, คนกัมพูชา 1 ราย และคนจีน 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ นาย หง เว่ย เหลียง สัญชาติจีน ผู้ต้องหารายสำคัญ ที่เชื่อได้ว่าอยู่ในระดับนายทุนและเป็นเจ้าของเว็บไซต์ปลอมดังกล่าว
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวอีกว่า นอกจากการจับกุมตัวผู้ต้องขบวนการดังดข่าวได้ 5 รายแล้วนั้น เจ้าหน้าที่ยังสามารถตรวจยึดของกลางและทรัพย์สิน อาทิเช่น คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, เงินสด, รถยนต์หรู, กระเป๋าแบรนด์เนม, และเครื่องประดับต่างๆ รวมมูลค่าประมาณ 80 กว่าล้านบาท ทั้งนี้จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย บางส่วนให้การรับสารภาพ บางส่วนให้การภาคเสธ โดยนายเอกณัฏฐ์ ยอมรับว่า ได้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของนายเอกชัย รับโอนเหรียญคริปโตจริง แต่อ้างว่าเป็นเหรียญที่ลูกค้าโอนมาจ่ายในการเล่นพนันออนไลน์ ส่วน นายฉาง ยอมรับว่า ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของ น.ส.ฤดี แฟนสาว ในการรับเหรียญคริปโตฯจริง แต่เป็นการซื้อเหรียญจากคนจีนที่อยู่ในประเทศกัมพูชา แต่ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ เบื้องต้นจึงนำตัวส่ง พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป พร้อมเตรียมขยายผลเอาผิด นายทุนและเจ้าของเว็บไซต์ปลอมที่ยังอยู่ระหว่างหลบหนีในประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเครือข่ายดังกล่าว พบพบว่ามีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับเว็บพนันเว็บไซต์หนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มเครือข่ายของสารวัตรซัว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลตรวจสอบอย่างละเอียด