“ธรรมนัส”เดินหน้าแก้ปัญหาประมงทะเล เร่งออกประกาศกฎหมายลำดับรอง 9 ฉบับ ที่ได้ข้อยุติร่วมกับชาวประมง

351

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ผู้แทนจาก กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กรมเจ้าท่า ตลอดจนผู้แทนกลุ่มประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุม โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุม ไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชนอีกครั้ง โดยมุ่งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมและการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ทั้งชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ โดยเฉพาะกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชาวประมง ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจึงมีคำสั่งเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ลงวันที่ 21 ก.ย. 66 โดยมีรมว.เกษตรฯ เป็นประธานกรรมการ ปลัดเกษตรฯ เป็นรองประธาน มีเจตนารมณ์ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาฟื้นฟูการประมงทะเลเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามที่มีกรณีข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในคราวลงพื้นที่จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 66 โดยมีประเด็นเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรอง ซึ่งขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว 9 ฉบับ โดย รมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดดำเนินการออกประกาศตามขั้นตอนต่อไป

ที่สำคัญคือที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอนโยบายการประมงทะเลและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านไทย พ.ศ. 2566 ของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประเด็นข้อเสนอของชาวประมงปลากะตักในจ.พังงา โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาชีพประมงและคุณภาพชีวิตของชาวประมงให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบมาตรการกำจัดและควบคุมปลาหมอสีคางดำของกรมประมง ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ แย่งอาหาร และแย่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่น ตลอดจนการแย่งอาหารและกินลูกพันธุ์สัตว์น้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ซึ่งมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการจับ การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว  การส่งเสริมการเลี้ยงปลาผู้ล่า คือปลากะพงขาว ปลากะพงทอง หรือปลาเก๋า ร่วมกับปลาเศรษฐกิจชนิดอื่น รวมถึงการส่งเสริมให้นำปลาหมอสีคางดำที่กำจัดออกไปแปรรูป เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำ การขายให้กับโรงงานปลาป่น เป็นต้น

นายลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล
ขราว/ภาพ