เพิ่มศักยภาพดินทางการเกษตร

1073

โครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพื้นที่ “ทุ่งรังสิต” แบบบูรณาการ เป็นโครงการพื้นที่เฉพาะ ดำเนินการครอบคลุม 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วย ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ เนื้อที่ทั้งสิ้น 2,385,834 ไร่ สภาพปัญหาหลักส่วนใหญ่ คือ ดินเปรี้ยว รองลงมา ได้แก่ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ประสบภาวะน้ำแล้ง/น้ำท่วม รวมถึงการใช้ที่ดินผิดประเภท

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพื้นที่ทุ่งรังสิต ระหว่างปี 63 – 72 วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบบูรณาการทุกภาคส่วนสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินในพื้นที่”ดินเปรี้ยวจัดทุ่งรังสิต” โดยจะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดทุ่งรังสิต เน้นระบบการควบคุมและกระจายน้ำ ซึ่งการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่ทุ่งรังสิตให้เป็นต้นแบบการจัดการดินเปรี้ยวจัดให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสภาพพื้นที่ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและสังคม การจัดทำกระบวนการ การมีส่วนร่วมของชุมชน กำหนดพื้นที่เป้าหมายตามความสำคัญ สำรวจพื้นที่อย่างละเอียด จัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบส่งน้ำ กระจายน้ำ ควบคุมระดับน้ำในแปลงเกษตรกร ปรับระดับพื้นที่ผิวดินให้มีความสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นพื้นที่ยกร่องเพื่อปลูกพืช

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด โดยวัสดุปรับปรุงดิน อาทิ ปูนมาร์ล ปูนโดโลไมท์ เป็นต้น การส่งเสริมการใช้พืชปุ๋ยสดและส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยมีเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในปี 63 มีเกษตรกรต้นแบบประสบผลสำเร็จหลายราย อาทิ ในพื้นที่ ต.ทองหลาง อ.บ้านนา จ.นครนายก ได้แก่ นางน้ำทิพย์ จำรัสทอง ที่ได้ปรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยการขุดสระทำนาบัว มีผลตอบแทน 1,704 บาท/ไร่ พื้นที่ต.ข้าวงาม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นางณัฐสินี เจริญทรัพย์ ได้ปรับพื้นที่นาเรียบ ขุดคูระบายน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำ กระจายน้ำ ควบคุมระดับน้ำในแปลงสำหรับการปลูกข้าว รวมถึงปรับปรุงดินโดยการใส่ปูนมาร์ลตามค่าวิเคราะห์ดิน และการปลูกปอเทืองเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุ จนสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ยกระดับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 3,251 บาท/ไร่ และนางสุวันนา พุฒโต ที่ปรับเปลี่ยนแปลงนาข้าวเป็นพืชผัก โดยปลูกตะไคร้ ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อไร่ 35,000 บาทเกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาในคูระบายน้ำทำให้มีแหล่งอาหารลดรายจ่ายในครัวเรือนและมีรายได้เพิ่มขึ้น นับว่า“โครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพื้นที่ทุ่งรังสิต”ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น

ลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล
ข่าว/ภาพ