SCB CIO มองสงครามอิสราเอล-ฮามาสยังมีความไม่แน่นอนสูง
แนะใช้ความระมัดระวังในการลงทุน จับจังหวะสะสมหุ้น Quality growth สหรัฐฯ

145

SCB CIO ประเมินสงครามอิสราเอล-ฮามาสยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้สงครามจะอยู่ในวงจำกัด ยังไม่ลุกลามเป็นสงครามทางตรงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ด้านผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลางยังไม่มีการจำกัดการส่งออก การลงทุนมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น SCB CIO คาด Fed จะเริ่มส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนในการประชุมวันที่ 1 พ.ย. นี้ จากประธาน Fed สาขาต่างๆ ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ ผลตอบแทนพันธบัตรในระดับปัจจุบันสูงเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว SCB CIO แนะนำให้ลงทุนแบบระมัดระวัง เน้นสินทรัพย์คุณภาพ จัดการความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ด้วยกองทุนที่กระจายลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (diversified commodity) และ ทยอยสะสมหุ้นเติบโตแบบคุณภาพสูง (Quality growth) ของสหรัฐ ที่มี Valuation ลดลงอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเป็น Soft landing และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ล่าสุดยังมีแนวโน้มดีกว่าคาด

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) ในปี 2516 พบ 3 ประเด็นสำคัญที่แตกต่างกันคือ
1) สงครามรอบนี้เป็นกลุ่มฮามาสที่มีกำลังพลประมาณ 30,000 คน พร้อมอาวุธ ต่างจากปี 2516 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพอียิปต์และซีเรียโจมตีอิสราเอล
2) สหรัฐฯมีท่าทีสนับสนุนอิสราเอล แต่พยายามพบปะผู้นำหลายชาติที่เกี่ยวข้องเพื่อเจรจา ต่างจากปี 2516 ที่ส่งกองกำลังทางอากาศ สนับสนุนอิสราเอล
3) ท่าทีล่าสุดของประเทศตะวันออกกลางในกลุ่มประเทศ OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลักของโลก ไม่ได้มีแนวโน้มจำกัดการส่งออกน้ำมัน ต่างจากปี 2516 ที่กลุ่มนี้ออกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศที่สนับสนุนอิสราเอล จนนำไปสู่วิกฤตราคาพลังงานโลก

ทั้งนี้ SCB CIO ประเมินความเป็นไปได้ของสงครามครั้งนี้เป็น 3 ฉากทัศน์ ( Scenario analysis) ได้แก่
1) สงครามจำกัดวง (Confined war) การสู้รบยังคงจำกัดอยู่ในฉนวนกาซา อิสราเอล และ พรมแดนรอบๆ ไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น มีการจำกัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน
2) สงครามตัวแทน (Proxy war) ความขัดแย้งลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เลบานอน และ ซีเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่าน ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอล และ อิหร่าน และ
3) สงครามทางตรง (Direct war) ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอล และชาติอาหรับซึ่งนำโดยอิหร่าน และมีการจำกัดการส่งออกน้ำมันจากผู้ส่งออกหลักในตะวันออกกลาง

โดย SCB CIO มองว่า มีความเป็นไปได้ที่สงครามน่าจะอยู่ฉากทัศน์ที่ 1 ประมาณ 40% ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกทำให้ปรับเพิ่มขึ้น ประมาณ 4 ดอลลาร์/บาร์เรล จากความเสี่ยงทางการเมือง (Political risk premium) ด้านอัตราเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับที่จัดการได้ ส่วนฉากทัศน์ที่ 2 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึง40% เช่นกัน ที่อาจทำให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น 8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ตลาดน้ำมันโลกเกิดความกังวลแต่ไม่ถึงกับ
ตื่นตระหนก (concerned but not panic) และฉากทัศน์ที่ 3 มีโอกาสที่จะเกิดค่อนข้างน้อย ประมาณ 20% แต่เป็นฉากทัศน์ที่จะส่งผลรุนแรงต่อราคาน้ำมันโลกที่อาจพุ่งขึ้นรวดเร็วในระยะสั้น ประมาณ 64 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเงินเฟ้อจากต้นทุน (cost push inflation) ที่กระทบเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตร
ที่สูงขึ้น ทำให้ SCB CIO คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนในการประชุมวันที่ 1 พ.ย. นี้ โดยล่าสุดประธาน Fed สาขาต่างๆ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในระดับปัจจุบันสูงเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ดังนั้น SCB CIO จึง
ยังคงมุมมองว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 5.25-5.50% และเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3/2567 สู่ระดับ 4.50%-4.75% ณ
สิ้นปี 2567

ทั้งนี้ SCB CIO ยังแนะนำให้ลงทุนแบบระมัดระวัง เน้นสินทรัพย์คุณภาพ (Flight to Quality) ในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยยังสูง และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าสงครามครั้งนี้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม แต่ด้วยบทเรียนจากสงครามยมคิปปูร์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2516 ส่งผลกระทบต่อโลกการลงทุนเป็นวงกว้าง ทั้งตลาดน้ำมัน เศรษฐกิจ ตลาดเงิน และ ตลาดทุนโลก มีผลรุนแรงทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรงในช่วง 6 เดือนหลังสงคราม โดยราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานเร่งตัวตามไปด้วย ในครั้งนั้นราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 4.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 15.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายใน 6 เดือน ส่งผลให้เศรษฐกิจ เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 12% ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (US dollar index)มีการเร่งตัวขึ้น

เราแนะนำให้จัดการความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ด้วยการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลากหลาย (diversified commodities) และระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ เราได้ปรับมุมมองให้ทยอยสะสม หรือ Slightly positive หุ้นสหรัฐฯ (จากเดิมแนะนำถือ) ด้วยเหตุผลที่มูลค่า (Valuation) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ จากที่สัดส่วนตัวเลขคาดการณ์ราคาต่อกำไรต่อหุ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า (5 year fwd P/E) ของตลาดหุ้น S&P500 เคยสูงสุด 19.0 เท่า เมื่อเดือน ก.ค. 2566 ตัวเลขนี้ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 17.25 เท่า ด้วยค่าความผันผวนเพียง -0.4 S.D. นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ Fed น่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนแล้ว ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นแค่ชะลอตัว (Soft landing) เงินเฟ้อชะลอลง ทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มการปรับประมาณการผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ดีขึ้น

ด้านภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2566 ใน S&P 500 ล่าสุด (ข้อมูลถึงวันที่ 25 ต.ค. 2566) พบว่า มีการประกาศงบแล้ว 29% ของบริษัททั้งหมด โดย 78% ของบริษัทที่ประกาศแล้ว ออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ นำโดย กลุ่มเทคโนโลยี (IT) กลุ่มสุขภาพ (Health Care) และ กลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer Staple) ขณะที่ บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Mega Cap 10 ซึ่งมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่สุด 10 บริษัท ส่วนใหญ่
ก็มีผลประกอบการไปในทิศทางที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้