การแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผู้บัญชาการ(รองผบช.)-ผู้บังคับการ(ผบก.) หรือนายพลเล็ก จำนวน 275 นาย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม เป็นด่านที่ 2 สำหรับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) จัดทำโผตามกฎหมายตำรวจ 2565 แบบผ่านฉลุย มีเสียงชื่นชมมากกว่าเสียงตำหนิ
แม้แต่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ยึดมั่นในหลักการและเป็นก.ตร.หนึ่งเดียวที่ลงมติไม่เห็นในการตั้งพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นผบ.ตร. ยังชื่นชมว่า การเลื่อนผบก.เป็นรองผบช.ยึดตามกฎหมายกำหนดสัดส่วนกลุ่มอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มความรู้ความสามารถ 50 เปอร์เซ็นต์ การพิจารณาแต่งตั้งผบก.เป็นรองผบช.54 ตำแหน่ง ผบก.ที่ดำรงตำแหน่ง 3 ปี ขึ้นไปได้เลื่อนทุกคน
การแต่งตั้งรองผบก.เป็น ผบก.ที่ประชุมพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถ ภาพรวมมีตำแหน่งว่าง 80 ตำแหน่ง มีคุณสมบัติจะเลื่อนขึ้น โดยเป็นรองผบก.4-10 ปี จำนวน 473 คน ผู้อยู่ในกลุ่มอาวุโส 7-10 ปี ได้เลื่อน 49 นาย กลุ่มความรู้ความสามารถได้เลื่อน 31 นาย
“ให้คะแนนเต็มสิบ สำหรับความเป็นดรีมทีม ผู้บังคับบัญชาตำรวจที่เข้มแข็ง รักใครสามัคคี กลมเกลียวช่วยกันพิจารณาบัญชี ช่วยกันชี้แจงต่อที่ประชุม ก.ตร.รับข้อเสนอ รับข้อสังเกตให้ความเป็นธรรมกับผู้ใต้บังคับบัญชา” พล.ต.อ.เอก ระบุ
จึงไม่แปลกที่โผนายพลเล็กมีแต่เสียงขานรับ เพราะในอดีตที่ผ่านมาเมื่อโผนายพลไม่ว่าจะเป็นนายพลใหญ่หรือนายพลเล็กคลอดออกมารายชื่อนายพลที่ได้รับการแต่งตั้งจะถูกสื่อวิพากษ์วิจารณ์ต่อท้ายชื่อนายพลแต่ละคนว่าสังกัดนักการเมืองค่ายไหน และผู้อิทธิพลในวงการไหน
ครั้งนี้แทบจะไม่มีให้เห็น มีเพียงบางชื่อที่ระบุว่าใกล้ชิดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นอกนั้นจะระบุเพียงว่าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ(นรต.)รุ่นไหนที่ผงาดยกแผง ซึ่งเป็นไปตามระบบอยู่แล้วเพราะแต่ละรุ่นจะเติบโตไล่ๆกัน
แต่ช่วงท้ายในการประชุม ก.ตร.มีควันหลงถกเถียงถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับตำแหน่งในสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่ส่อผิดกติกา ก.ตร.บางคนไม่ยินยอมให้ผ่านเพราะหวั่นถูกฟ้องภายหลัง ได้ข้อสรุปว่ายึดหลักกฎหมาย
บททดสอบการแต่งตั้งโยกย้ายภายใต้กฎหมายใหม่ ทั้งด่านแรกรองผบ.ตร.-ผบช.และด่านที่ 2 รองผบช.-ผบก. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ฝ่าด่านได้ฉลุย ส่วนหนึ่งอาจจะมี ก.ตร.เป็นพี่เลี้ยง คอยท้วงติง ในจังหวะที่ออกนอกลู่บ้างในบางตำแหน่ง
เหลือด่านสุดท้ายที่จะต้องวัดฝีมือคือแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผบก.-สารวัตร(สว.) ถ้ามองตามรูปการจัดว่าเป็นด่านหินก็ว่าได้ เพราะมีปริมาณมากนับพันตำแหน่ง ผบ.ตร.จะมีบทบาทสำคัญในการคัดท้ายไม่ให้ถูกผู้มีอิทธิพลในวงการต่างๆมาครอบงำ แม้กฎหมายใหม่จะให้อำนาจระดับกองบัญชาการจัดทำโผก็ตาม แต่ถนนทุกสายยังมุ่งตรงไปที่ ผบ.ตร.อยู่ดี
ที่สำคัญคือไม่มี ก.ตร.เป็นพี่เลี้ยงคอยทักท้วง หากพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยืนไม่มั่นโอกาสที่เพลี่ยงพล้ำสูง เพราะเป็นที่ทราบกันว่าการแต่งตั้งในระดับนี้จะมีผู้มีอิทธิพลในวางการต่างๆแทรกแซงได้ง่าย โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองที่ถืออำนาจ จะมีส.ส.ในพื้นที่ต้องการตำรวจใกล้ชิดดำรงตำแหน่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง หากตำรวจที่ฝากมามีคุณสมบัติครบผู้จัดทำโผก็รอดตัวไป
ถ้าคุณสมบัติไม่ครบแต่บุคคลที่ฝากมามีบทบาทสำคัญในซีกรัฐบาล ผู้จัดทำโผคงกระอักกระอ่วนใจ ผบ.ตร.จะเป็นที่พึ่งสุดท้ายยืนเป็นหลักแก้ปัญหาให้
เมื่อมองภาพรวมในการจัดโผระดับรองผบก.-สว. หากยึดหมั่นในกฎกติกาอย่างเคร่งครัดมิได้สร้างความลำบากใดๆให้กับผบ.ตร.และทีมงานเลย
แต่บังเอิญว่าการแต่งตั้งในอดีตกฎกติกามีไว้เพื่อยกเว้นกับบุคคลพิเศษมีเส้นสายที่ผู้บริหารองค์กรตำรวจยากที่จะปฏิเสธ จนกลายเป็นความคุ้นชินของผู้มีอำนาจทั้งหลายว่าเมื่ออยากให้เด็กในสังกัดได้ก็ต้องได้
จึงเป็นโจทก์ยากสำหรับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่ต้องบริหารอำนาจให้ลงตัว เพราะครั้งนี้มีทั้งกฎหมายตำรวจที่ค้ำคอและผู้มีอิทธิพลในวงการต่างๆคอยกดดัน
ถ้าก้าวพลาดโอกาสที่จะถูกร้องถึงคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการหรือ ก.พ.ค.ตร.เป็นไปได้สูง และมีโอกาสพลาดได้เพราะมีนับพันตำแหน่ง
ดังนั้นการแต่งตั้งระดับรองผบก.-สว. เป็นการท้าทายศักยภาพในการบริหารองค์กรของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นอย่างยิ่ง
จึงได้แต่คอยลุ้นคอยเชียร์ไม่ให้โผนี้ทำดีแตก !!!