การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจปี พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นกฎหมายตำรวจฉบับใหม่ป้ายแดง รอบที่ 2 มีขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) นัด ก.ตร.ถกโผระดับ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.)-ผู้บัญชาการ(ผบช.)
โดยรอบแรกพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร. ทั้งประธาน ก.ตร.และ ก.ตร.ได้ละเลยทำให้กฎหมายตำรวจไร้ความขลังมาแล้ว เมื่อลงมติเลือก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.อาวุโสรั้งท้าย มีประสบการดำรงตำแหน่งระดับผู้กำการ(ผกก.)-รองผบ.ตร. แค่ 6 ปี จนถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ไปร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สอบ ฐานขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายตำรวจ 2565
ดังนั้นการแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร.แทนตำแหน่งที่ว่าง 3 ตำแหน่ง ผู้ช่วยผบ.ตร. 5 ตำแหน่ง และ ผบช.16 ตำแหน่ง ชาวสีกากีต่างจับตามองเป็นพิเศษว่า จะมีนายพลตำรวจที่ผิดหวังจากการก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ต่อสู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจและเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ ? รวมถึงบทบาทของ ก.ตร.ทั้งโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิ จะโชว์บทบาทพิทักษ์กฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์หรือจะสวมตรายางแบบเดิมๆ แล้วรอรับผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรือไม่ ?
สำหรับการแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร.และผู้ช่วย ผบ.ตร. ตามกฎหมายตำรวจฉบับเก่า จะเรียงลำดับตามอาวุโสอย่างเคร่งครัด แต่กฎหมายตำรวจฉบับใหม่ไม่ได้บัญญัติให้ยึดหลักอาวุโสอย่างเคร่งครัด
โดยมาตรา 77 (2)ระบุว่า ตำแหน่งรองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ(จตช.) จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตำรวจยศ พล.ต.ท.หรือ พล.ต.อ.และเคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร.และรองจตช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ในกรณีไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งมาแล้วหนึ่งปีให้แต่งตั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดตามลำดับ (3)ตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร.และรองจตช. จะได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งยศ พล.ต.ท. ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
(4) ตำแหน่ง ผบช.และจเรตำรวจ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พล.ต.ต.หรือ พล.ต.ท. เคยดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.และรอง จเรตำรวจ มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
มาตรา 78 (2)การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามมาตรา 77(2)สรุปว่าให้ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อเสนอต่อ ก.ตร. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคับทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง (3) การแต่งตั้งตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77(3)และ(4)ให้ ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งตามมาตรา 81 (1)(ก)เสนอแนะ แล้วเสนอ ก.ตร.ให้ความเห็นชอบและนำเสนอนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
แต่เพื่อให้การแต่งตั้ง รองผบ.ตร.-ผู้ช่วยผบ.ตร.และจตช.ไม่ให้เกิดช่องโหว่ข้ามอาวุโส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ออกข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2566 ถึงวิธีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ
ข้อ 41(1)ระบุว่าข้าราชการตำรวจที่จะคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ รอง ผบ.ตร. จตช. ผู้ช่วยผบ.ตร.และ รอง จตช. ให้พิจารณาเรียงลำดับตามอาวุโส (2)ตำรวจที่จะคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ ผบช.ถึงระดับ ผบก.ให้เรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ ของตำแหน่งที่ว่าง
ดังนั้นการแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร. จตช. และผู้ช่วย ผบ.ตร.คงยึดตามอาวุโส แต่ระดับผบช. 8 ตำแหน่งยึดอาวุโสและอีก 8 ตำแหน่ง คงยึดความเหมาะสม จะเป็นช่องว่างให้ รอง ผบช.ใกล้ชิดขั้วอำนาจวิ่งเต้นกันฝุ่นตลบแน่นอน
แต่ถึงแม้จะมีกฎเหล็กคอยกำกับ ใช่ว่าจะวางใจได้ เพราะหลายคนมีกำลังภายในและอิทธิฤทธิ์สูง พร้อมที่จะทลายกฎให้พังได้ เพราะผลตั้ง ผบ.ตร.คือตัวอย่างที่ชัดเจน ต้องจับตาดูว่าในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ กฎกติกาจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ถ้าไร้ความขลังโอกาสที่ผู้ผิดหวังจะสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์เป็นไปได้สูง
โดยดำเนินการตามมาตรา 87 ร้องทุกข์ต่อ”คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)”หากไม่พอใจคำวินิจฉัย สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสูดได้ และท้ายมาตราระบุโทษจำคุกไว้ด้วย
ซึ่ง ก.พ.ค.ตร.7 คน ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ประกาศรับรองเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย นายธวัชชัย ไทยเขียว พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ นายวันชาติ สันติและนายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์
สำหรับ ก.พ.ค.ตร. ทั้ง 7 คนล้วนเป็นอดีตข้าราชการ ในบางช่วงของชีวิตรับราชการคงเคยสัมผัสรสชาติการแต่งตั้งโยกย้ายที่ขมขื่นมาอย่างแน่นอน ย่อมเข้าใจหัวอกตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นอย่างดี
เชื่อว่าในการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผบ.ตร.-สารวัตร ที่จะทยอยออกมาเรื่อยๆ ก.พ.ค.ตร.คงต้องรับศึกหนักแน่นอน เพราะที่ผ่านมาตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างอึดอัด เก็บความกดดันไว้ โดยไร้ทางออก บางคนลาออก บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายหรือบุกทำร้ายผู้บังคับบัญชา
ที่สำคัญถ้า ก.พ.ค.ตร.ทำงานอย่างแข็งขัน ไม่ลูบหน้าปะจมูก แบบ ก.ตร. จะช่วยยับยั้งไม่ให้ผู้บริหารสำนักปทุมวันและฝ่ายการเมือง ลุแก่อำนาจเหมือนอดีตที่ผ่านมา !!!