สว.ไร้จริยธรรมมีไว้ทำไม?

367

คำว่า “จริยธรรม” สำหรับนักการเมืองในประเทศไทย เป็นคำที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ว่าคุณกำลังใช้อยู่กับใคร ? ถามว่าทำไมเป็นเช่นนั้น เราลองไล่เรียงข่าวในรอบ1เดือนที่ผ่านมาจะพบว่ามีความน่าอัศจรรย์ใจไม่น้อย

เริ่มที่ “วัดบางคลาน” จังหวัดพิจิตร ที่พบว่ามีดราม่า มีปัญหาในการบริหารงานและเงินของวัดบางคลาน จ.พิจิตร ที่ยืดเยื้อกันมาหลายปี  ไทยพีบีเอสเคยรายงานไว้ว่า “ปี 2557 หลังเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร มีคำสั่งปลดอดีตเจ้าอาวาส เนื่องจากมีการใช้เงินวัดผิดวัตถุประสงค์ และมีการตั้งรักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เข้ามาบริหารจัดการเงินบริจาคและทรัพย์สินของวัด แต่ก็มีความเห็นชาวบ้านไม่ตรงกันระหว่าง 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกไม่เชื่อใจรักษาการเจ้าอาวาสใหม่ที่มาแทน และฝ่ายคัดค้านเจ้าอาวาสใหม่ โดยได้ดึง นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. เข้ามาแก้ปัญหาแต่เรื่องก็ยืดเยื้อมานานเกือบสิบปีจนถึงปัจจุบัน

เม.ย.2566  มีกลุ่มชายฉกรรจ์บุกเข้าไปในวัดบางคลาน ทำร้ายไวยาวัจกร และกลุ่มคนงาน บาดเจ็บกว่า 10 คน มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สภ.โพทะเลต่อมาตำรวจออกหมายจับกลุ่มชาย 21 คน รวมถึงออกหมายเรียก นายกิตติศักดิ์ ซึ่งเจ้าตัวได้ไปรับทราบ 3 ข้อหา คือ เป็นผู้ใช้และจ้างวาน บุกรุกเคหสถานและทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส จนถึงวันนี้วัดนี้ก็ยังคงมีปัญหาอยู่ และ สว.กิตติศักดิ์ยังคงเป็นตัวละครที่มีชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องในข่าวอยู่ร่ำไป

สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจคือ 18 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรม นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ของคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานกรรมการได้พิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภานั้นเป็นการประชุมลับและลงมติลับ

สำหรับผลการลงมติปรากฏว่า มีเสียงเห็นชอบกับรายงานกรรมการ 93 เสียง ไม่เห็นชอบ 33 เสียง และไม่ออกเสียง 37 คน ซึ่งถือว่านายกิตติศักดิ์ ไม่ได้ทำการใดตามที่ถูกร้องเรียนจริยธรรม เพราะคะแนนเสียงเห็นชอบนั้นมีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ สว. 124 เสียง

นี่คือผลของการที่มี ผู้ที่เรียกตัวเองว่า “สภาสูง”พิจารณากันอย่างไม่อายฟ้าดิน คลิปภาพ คลิปเสียงกระทั่งพฤติกรรมหลายอย่างในสภาที่พวกท่านอ้างว่าเป็นสถานที่อันทรงเกียรติแต่กลับพิจารณากันเหมือนไม่ซีเรียสกับเรื่องที่เกิดขึ้น

เรื่องต่อมาคนในสภาสูงที่ไปตามล่าแสงเหนือ แล้วถูกคนไทยในต่างแดนไล่ ไม่ต้อนรับ แต่กลับมีข่าวที่น่าสนใจมากกว่าคือ “ลาวามอส” อันเกิดได้ยากตามธรรมชาติ สว.คนดังกล่าวไปแอคชั่นถ่ายรูปสวยๆ ยิ่งกว่าเหยียบคือการนอนลงไป จนมีการขุดให้เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มีป้ายเตือนและเป็นเรื่องซีเรียสในเรื่องมารยาท วิถีปฏิบัติที่ควรเคารพสถานที่ยิ่งธรรมชาติที่มีความเปราะบาง และเกิดได้ยาก ไม่อยากถูกมนุษย์ทำลายในเสี้ยวนาที ก็มีตัวอย่างชัดๆอันเป็นภาพเจ้าตัวโพสต์เอง แม้ว่าจะลบแต่ดิจิทัลฟรุ๊ตปริ้นท์นี้ได้ปรากฎบนโลกออนไลน์เรียบร้อยแล้ว

จากที่คนจะสนใจเรื่องข่าวถูกไล่ออกจากร้านกลายเป็นความจริงที่น่าตั้งคำถามถึงการไปแอ๊คชั่นถ่ายรูปและลาประชุมไปหรืออะไรอย่างไร แทน ก็เป็นอีกเคสที่ผู้ดำรงตำแหน่งในสภาสูงควรตระหนักว่าทำงานได้สมหน้าที่แย่างเชดีเยี่ยมไม่เบียดบังเวลาและมีจริยธรรมหรือไม่

2 กรณีจากคนที่เป็น สว.คือสิ่งที่ปรากฎในขณะที่เขาเหล่านี้มีหน้าที่เป็นวุฒิสภา เป็นการกระทำอันเกิดขึ้นในข่วงปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่ง แล้วทั้งสิ้น

แต่เรากลับไปด้ยินข่าวผิดจริยธรรมจนถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต อดีต สส. นามว่า ช่อ พรรณิการ์ อดีตอนาคตใหม่ที่โดนตัดสิทธิจนกว่าจะหมดลมหายใจ ถามว่าเหตุมาจากอะไร พอสืบทราบได้ว่ามา จากภาพเก่าสมัยเป็นบัณฑิตเป็นนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีเรื่องในตอนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลับถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต จึงอดคิดไม่ได้จริงๆว่าคำว่า “จริยธรรม”นี้เป็นคำที่เขียนใช้ไว้ใช้กับใคร เป็นเครื่องมืออะไร แล้วยังต้องมีอยู่ไหม ถ้าไม่ศักดิ์สิทธิ์กับสิ่งที่ประชาชนเห็นว่ามีการบุกวัดมีการใช้กำลัง หรือการไปต่างประเทศไปนอนทับธรรมชาติ ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องที่เกิดในช่วงดำรงตำแหน่ง ใครก็ได้ตอบหน่อยครับว่ายังต้องมีกฎหมายไว้บังคับกับคนทุกคนหรือไม่ หรือจะเขียนลงไปเลยว่าเธอทำไม่ได้ ไม่ว่าจะทำตอนไหนตั้งแต่เธอ มีลมหายใจยังไม่ต้องดำรงตำแหน่งการเมืองเธอไม่มีสิทธิ ส่วนชั้นทำได้คนเดียวตั้งแต่เกิดยันจะลาโลกทำอะไรก็ได้ทุกอย่างมีคนช่วยชั้น ผิดเป็นถูก ปิดตาข้างเดียวได้

จะเอาแบบนี้กันใช่ไหมครับ ไม่อายตัวเอง ก็อายลูกหลานบ้าง!