หากไม่เกิดเหตุโจ๋วัย 14 ควงปืนไล่ยิงชาวบ้านให้ห้างสรรพาสินค้าสยามพารากอน จนกลายเป็นข่าวครึกโครมทั่วโลก เชื่อว่าข่าวประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ จะเป็นข่าวที่สื่อหลายสำนักพาดหัว
เพราะเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย ปูพรหมสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆตั้งแต่ยังไม่ประกาศยุบสภา โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวหลักสื่อสารตั้งแต่ยังไม่ได้กลับประเทศ ขับเคลื่อนผ่านแกนนำพรรคเพื่อไทย และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
นโยบายนี้พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญพอๆกับนโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา เพราะเชื่อมั่นว่าถ้าทำสำเร็จจะสร้างรายได้ให้ชาวบ้านถึง 20 ล้านครอบครัว วางเป้าไว้ที่ครอบครัวละ 20,000 บาท/เดือน
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน ได้ประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริม Soft power ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบสูง ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม Soft power เป้าหมายจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯบอกว่า”จัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย จะเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ จะสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านชอฟต์พาวเวอร์ของโลก แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ขั้น”
ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ จะเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จาก 20 ล้านครัวเรือน ให้แจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งด้านทำอาหาร ฝึกมวยไทย วาดภาพศิลปะ ฝึกการแสดง ร้องเพลง ออกแบบ แฟชั่น ฝึกแข่ง e-sport และอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขั้นที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต รวมทั้งจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ในทุกจังหวัด เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ พบปะกันเพื่อริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างมั่นคงตั้งแต่ระดับภูมิภาคถึงระดับประเทศ และขั้นที่ 3 จะร่วมมือกับภาคเอกชนนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลกผ่านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นและกลาง คือ ภายใน 100 วัน หรือ 11 มกราคม 2567 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้ารับการบ่มเพาะ จะปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภายใน 6 เดือน หรือภายในวันที่ 3 เมษายน 2567 จะเริ่มต้นกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคนผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติ THACCA เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
จัดงานเทศกาล สงกรานต์ทั้งประเทศให้เป็นเทศกาลระดับโลก จากนั้นภายใน 1 ปี หรือวันที่ 3 ตุลาคม 2567 กระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคน จะสร้างแรงงานทักษะสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ได้จำนวนอย่างน้อย 1 ล้านคน รวมไปถึงส่งเสริมการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและเทศกาลดนตรีนานาชาติ สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในสาขาต่าง ๆ ไปร่วมงานในระดับโลก”
หากจับความเคลื่อนไหวในการผลักดันนโยบายสำคัญที่เป็นจุดขายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นโยบายนี้เป็นนโยบายแรกๆที่ถูกผลักดันออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะผลการประชุมคณะกรรมการฯได้กำหนดเป้าหมายการทำงานและไทม์ไลน์ไว้อย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยต่างคาดหวังว่าจะเป็นนโยบายที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้ระดับรากหญ้าได้ลืมตาอ้าปาก เป็นช่องทางให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ใน 20 ล้านครอบครัว ได้โชว์ไอเดียแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวสร้างฐานะที่มั่นคงได้ ถ้านโยบายนี้บรรลุเป้าหมายจะกลายเป็นที่กล่าวขานถึงเหมือนนโยบายหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหรือนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่ประทับใจชาวรากหญ้ามาตราบทุกวันนี้
หากมองในเชิงการเมืองสมาชิก 20 ล้านครอบครัว จะกลายเป็นฐานเสียงสำคัญให้กับพรรคเพื่อไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
อาจจะกลายเป็นการบ้านข้อยากสำหรับพรรคก้าวไกล ที่มุ่งเดินเกมการเมืองแบบเข้มงวดกับคนอื่นผ่อนปรนให้ตัวเอง ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้าที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นคู่แข่งสำคัญก็เป็นได้ !!!