• เศรษฐกิจโลก
การยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐและยูโรโซนเผชิญความท้าทายมากขึ้น ด้านความเสี่ยงในจีนอาจส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจในเอเชีย
• สหรัฐ
เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหนึ่งครั้งในการประชุมรอบหน้า พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ หนุนภาพการฟื้นตัวแบบ goldilocks ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% สูงสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งสู่ระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2567 และลดลงสู่ 3.9% ในช่วงสิ้นปี 2568 สำหรับตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปีนี้ปรับขึ้นเป็นขยายตัว 2.1% จากเดิมคาด 1.0% ด้านยอดขายบ้านมือสองในเดือนสิงหาคมลดลง 0.7% MoM สู่ระดับ 4.04 ล้านยูนิต ขณะที่ในเดือนกันยายน ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 50.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ 50.5 ส่วนดัชนี PMI รวมภาคบริการและการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 50.1 ชะลอลงจาก 50.2
แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มโตชะลอลงแต่คาดไม่แย่ถึงขั้นถดถอยแรงจากดัชนีชี้วัดตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งซึ่งหนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีกว่าคาดทั้งในปีนี้และปีหน้า ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อแม้อยู่ในทิศทางชะลอตัวแต่ก็ยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมายของเฟดที่ 2% อย่างไรก็ตาม การตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงนานเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ถ่วงเศรษฐกิจให้มีโอกาสซึมยาวและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในอนาคต ทั้งนี้ผลการประชุม FOMC ครั้งล่าสุด เฟดยังเปิดโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งที่ 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ในการประชุมช่วงครั้งสุดท้ายของปีนี้ ก่อนที่จะคงไว้ที่ระดับสูงนานจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ในระยะยาว
• ยูโรโซน
แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและภาพรวมเศรษฐกิจที่อ่อนแอมากขึ้นสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางนโยบายการเงินของ ECB ในเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยสู่ 5.2% YoY จากเดือนก่อนที่ 5.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ 5.3% จากเดือนก่อนที่ 5.5% ในเดือนกันยายน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ -17.8 หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่
-16.0 ขณะที่ดัชนี PMI รวมภาคบริการและการผลิตเบื้องต้นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.1 จากระดับต่ำสุดในรอบ 33 เดือนที่ 46.7 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในโซนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 48.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ 47.9 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
ผลจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของยูโรโซนต่อเนื่องสะท้อนผ่านภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจที่มีทิศทางอ่อนแอลงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังปี 2566 สะท้อนจากการบริโภคและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่หดตัวลง ขณะที่ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุด แม้ว่า ECB จะส่งสัญญาณยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น แต่จากราคาพลังงานโลกที่เร่งตัวขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน ประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัวสูงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าคาดซึ่งจะเพิ่มความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB หลังจากนี้
• จีน
ธนาคารกลางจีนคงดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มทรงตัวหลังสูญเสียแรงส่งต่อเนื่อง ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีที่ระดับ 3.45% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 4.20% ในวันที่ 20 กันยายน การคงดอกเบี้ยดังกล่าวสอดคล้องกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นภายหลังชะลอลงต่อเนื่อง อาทิ ยอดค้าปลีก (+4.6% YoY เดือนส.ค. จาก +2.5% เดือนก.ค.) การผลิตภาคอุตสาหกรรม (+4.5% จาก +3.7%) อัตราการว่างงาน และการปล่อยสินเชื่อ
แม้เศรษฐกิจจีนเริ่มทรงตัวท่ามกลางแรงหนุนจากมาตรการต่างๆ แต่วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ด้านมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของภาคอสังหาฯจีนลงสู่ “เชิงลบ”
จากเดิม “มีเสถียรภาพ” อีกทั้งยังระบุว่าบริษัทพัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ China Jinmao Holdings Group และ China Vanke มีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง นอกจากนี้ Sunac China Holdings ผู้พัฒนาอสังหาฯของจีน ยื่นเรื่องล้มละลายตามมาตรา 15 ต่อศาลล้มละลายของสหรัฐ โดยภาพรวมแล้ว ปัญหาในภาคอสังหาฯยังอาจกดดันเศรษฐกิจจีนและเอเชียต่อไป ด้าน ADB คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะลดลงจาก 4.9% ในปีนี้ สู่ 4.5% ในปีหน้า สำหรับในเอเชีย ADB คาดว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะโต 4.7% ในปีนี้ ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4.8% พร้อมเตือนว่าวิกฤตในภาคอสังหาฯของจีนอาจสร้างความเสี่ยงและส่งผลบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้
• เศรษฐกิจไทย
การลงุทนภาคเอกชนปีนี้อาจขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่แนวโน้มการขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบความเชื่อมั่น
การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำ ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนจากต่างประเทศยังไม่ชัดเจน กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) จำนวน 435 ราย (+14%YoY) เงินลงทุนรวม 65,790 ล้านบาท (-21%) โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น (99 ราย เงินลงทุน 21,981 ล้านบาท) สิงคโปร์ (72 ราย, 13,995 ล้านบาท) สหรัฐ (71 ราย, 3,070 ล้านบาท) จีน (31 ราย, 11,851 ล้านบาท)และฮ่องกง (19 ราย, 5,359 ล้านบาท)
การลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปีที่เติบโตเล็กน้อยเพียง 1.8% YoY ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปียังมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรฏาคมแม้ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนแต่ยังคงเติบโตต่ำเพียง 1.4% YoY กอปรกับข้อมูลการขออนุญาตประกอบธุรกิจจากต่างด้าวเฉพาะในเดือนสิงหาคมมีมูลค่า 6,840 ล้านบาท ชะลอลงจาก 10,023 ล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่ 8,421 ล้านบาท ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการลงทุนและความล่าช้าของพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะกระทบต่อโครงการลงทุนใหม่ๆ ของรัฐ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบจากภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน โดยรวมทั้งปี 2566 คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนของไทยจะเติบโตเพียง 2.0% จากขยายตัว 5.1% ในปี 2565
ความกังวลเสถียรภาพทางการคลังของไทยทวีขึ้น ต่างรอความชัดเจนจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยล่าสุดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังเผยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 26 กันยายนนี้ พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ดิจิทัลวอลเล็ด (ประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ตั้งแต่กระบวนการทำงาน การใช้จ่ายเงินดิจิทัล กระบวนการตรวจสอบ การป้องกันทุจริตและตรวจสอบ ประเมินผลการทำงาน) เพื่อหวังขับเคลื่อนโครงการได้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคด้วยนโยบายการแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต่อคน ด้วยวงเงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท สร้างความกังวลอาจสร้างภาระทางการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลสูงขึ้น กระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังที่เคยเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในระยะข้างหน้า ด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งฟิทซ์ เรตติ้ง และมูดีส์ เตือนว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่อาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ฐานะการคลังอ่อนแอลง จึงบั่นทอนความเชื่อมั่นและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินทุนไหลออกในระยะนี้ โดยในช่วง 22 วันแรกของเดือนกันยายนปีนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดพันธบัตรกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขายสุทธิกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแตะระดับ 36.32 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือน